“การประยุกต์ใช้ Compa-Ratio กับความสามารถ หรือ Competency ของพนักงาน” ( Compa-Ratio EP4)
มีหลายองค์กรที่พยายามเชื่อมระบบการจ่ายเงินเดือนให้เข้ากับระบบ Competency หรือ เรื่องความสามารถของพนักงานในการทำงาน โดยพยายามจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานตามความสามารถของพนักงานแต่ละคน ซึ่งระบบนี้ก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในองค์กรใหญ่ๆ ที่มีวิธีการประเมิน Competency ที่ชัดเจน มีเครื่องมือให้กับเหล่าบรรดาผู้จัดการใช้ในการบอกว่า พนักงานแต่ละคนนั้นมีความรู้ความสามารถ และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมกับงานอย่างไรบ้าง
จากนั้นก็พยายามนำเอา Competency ที่ว่านี้มาเชื่อมกับระบบการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานโดยผูกเอาความสามารถเป็นตัวบอกด้วยว่าพนักงานควรจะได้รับเงินเดือนในระดับในของกระบอกเงินเดือน ซึ่งวิธีนี้ก็มีการนำเอา Comparatio มาใช้งานอีกเช่นกัน เพื่อเป็นเป้าหมายในการบอกเราว่า พนักงานที่มี Competency ในแต่ละดับนั้นควรจะได้รับเงินเดือนในระดับใดบ้าง
วิธีการจ่ายเงินเดือนในรูปแบบนี้ ส่วนใหญ่จะออกแบบโครงสร้างเงินเดือนให้กว้างมากๆ เป็นแบบที่เราเรียกว่า Broadband นั่นเองครับ โดยปกติความกว้างของช่วงเงินเดือนแบบนี้จะอยู่ที่ประมาณ 300 – 400% ซึ่งเรียกได้ว่ากว้างมากทีเดียว ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับความสามารถของพนักงานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นเองครับ ซึ่งระบบนี้จะไม่ค่อยพิจารณาในเรื่องของค่างานสักเท่าไรนัก กล่าวคือ คนทำงานในตำแหน่งเดียวกัน แต่อาจจะได้รับเงินเดือนที่แตกต่างกันได้มากมายขึ้นอยู่กับทักษะและความสามารถของพนักงานคนนั้นๆ
ตัวอย่างโครงสร้างเงินเดือนแบบ Competency
จากตัวอย่างข้างต้น เราสามารถจ่ายเงินเดือนให้พนักงานตามความสามารถของพนักงานได้โดยอาศัย Compa-Ratio มาเป็นเครื่องมือ วิธีการในการบริหารก็คือ ถ้าพนักงานคนหนึ่งเพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ๆ ยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร และจะต้องเรียนรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ยังไม่สามารถทำงานได้เอง จะต้องรับคำสั่ง และทำตามที่บอก ถ้าพนักงานเป็นแบบนี้ การให้เงินเดือนก็จะอยู่ในช่วงที่ Compa-Ratio ต่ำกว่า 0.75 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้น
เมื่อไรที่พนักงานสามารถทำงานได้เอง โดยที่อาศัยความรู้ ทักษะความสามารถของตนโดยที่หัวหน้างานไม่ต้องเข้ามาดูแลอะไรมากมาย และสามารถทำงานได้ตามมาตรฐานของตำแหน่งงานได้อย่างดี ด้วยระบบบริหารเงินเดือนข้างต้นจะต้องเร่งเงินเดือนพนักงานให้เข้าสู่ Compa-Ratio ในอัตรา 0.9 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของ Performer
และถ้าพนักงานสามารถแสดงทักษะและฝีมือในการทำงานให้เราเห็นอย่างดี และสามารถที่จะสอนงานคนใหม่ หรือถือได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานนั้นๆ อย่างมาก ในการบริหารเงินเดือนพนักงานคนนี้ก็จะต้องเร่งเงินเดือนให้เข้าสู่ระดับ compa-ratio ที่ 1.25 ขึ้นไป
จากที่อิบายตัวอย่างมาทั้งหมด จะเห็นว่าวิธีนี้เราจะบริหารเงินเดือนพนักงานตามความสามารถจริงๆ ใครเก่ง และพิสูจน์ได้ว่าเก่งจริงๆ มีฝีมือดีมากๆ องค์กรก็จะเร่งเงินเดือนให้ไปสู่ระดับเป้าหมายของโครงสร้างเงินเดือนนั้นๆ เพื่อเป็นการตอบแทนฝีมือของพนักงานตาม Competency นั่นเอง…
ที่ผ่านมาในทุกบทความเกี่ยวกับ Compa-Ratio ผู้อ่านคงได้เรียนรู้ การใช้งาน Compa-Ratio โดยวิธีต่างๆ และผู้อ่านหลายท่านคงพอจะมองภาพการใช้งาน Compa-Ratio ว่าใช้งานอะไรได้บ้าง และคงมองเห็นถึงการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่ใกล้เคียงตลาดแรงงานได้ด้วยเช่นกัน…
ที่มา https://prakal.com/
รูปภาพ https://www.pexels.com/