Women at work สตรีเพศและการทำงาน

วันนี้เราจะมานำเสนอกันเรื่องแรงงานผู้หญิง ว่า สำหรับพนักงานแรงงานเพศหญิงเนี่ยมีความสำคัญอย่างไร แล้วถ้าเกิด พนักงานหญิงคนนั้น ตั้งครรภ์ ล่ะ ทางบริษัทมีวิธีจัดการดูแลอย่างไร
การใช้งานแรงงานหญิง
  1. ห้ามนายจ้างแรงงานหญิงทำงานดังต่อไปนี้
  • งานเหมืองแร่ หรืองานก่อสร้าง ที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในอุโมงค์ หรือลักษณะงานที่อันตรายต่อสุขภาพและร่างกายของลูกจ้างหญิง
  • งานผลิตหรือขนส่งวัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ
  • งานอื่นๆตามที่กำหนดในกระทรวง
  1. ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างหญิง ที่มีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 22.00น. – 06.00น. ทำล่วงเวลาทำงานในวันหยุดหรือทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
  • งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน
  • งานที่ทำในเรือ
  • งานยก แบก หาม หรือเข็นของหนัก 15 กิโลกรัม
  • งานเหมืองแร่ หรืองานก่อสร้าง ที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในอุโมงค์ หรือลักษณะงานที่อันตรายต่อสุขภาพและร่างกายของลูกจ้างหญิง
  1. พนักงาน ตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างเปลี่ยนเวลาทำงานหรือชั่วโมงทำงาน ของลูกจ้างหญิงที่ทำงานในระหว่างเวลา 24.00 น. – 06.00 น. ได้ตามที่เห็น สมควรถ้าพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่างานนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้างหญิงนั้น
  2. ลูกจ้างหญิงมีครรภ์มีสิทธิขอ ให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการ ชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ กรณีที่มีใบรับรองแพทย์ แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง มาแสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้
  3. ห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหญิงเพราะเหตุมีครรภ์

** และที่สำคัญคือ การห้ามการล่วงเกินหรือคุกคามทางเพศ เพราะ นอกจากความปลอดภัยในสุขภาพร่างกายแล้ว ลูกจ้างควรจะได้รับความปลอดภัยต่อการถูกล่วงเกินหรือคุกคามทางเพศด้วย ดังนั้น ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 40 จึงได้มีการกำหนดห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง **

!!  คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับหญิงตั้งครรภ์  !!
  1. ควรงดการทำงานกับเครื่อง X-Ray อย่างเด็ดขาด เพราะทารกในครรภ์มีโอกาสพิการ หรือเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวจากรังสี
  2. หากลักษณะการทำงานต้องยืนหรือนั่งเป็นเวลานานๆ ก็ควรที่จะเปลี่ยนอิริยาบถบ้างอย่างน้อยทุกๆ 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ในช่วง 6 เดือนเป็นต้นไป เช่น อาจจะใช้การเดินไปมาช้าๆ สลับกับการนั่งพัก
  3. การจะขยับตัวหรือเปลี่ยนอิริยาบถต้องระมัดระวัง เพราะอาจเกิดการหดเกร็งของมดลูกได้หากเปลี่ยนอิริยาบถเร็วเกินไป
  4. สำหรับการเดินทางไปทำงานไม่แนะนำให้นั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์
  5. หลีกเลี่ยงความเครียด ทำจิตใจให้ผ่องใส
  6. ห้ามกลั้นปัสสาวะ เพราะการกลั้นปัสสาวะจะทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบได้
  7. ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับอายุครรภ์
  8. พบแพทย์เพื่อตรวจครรภ์ตามนัด
ความเครียดในการทำงานมีผลต่อลูกอย่างไร

ความเครียดในการทำงานจะส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านร่างกายและจิตใจของลูกไม่มากก็น้อย ถ้าคุณแม่เครียดมาก ๆ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการไหลเวียนของโลหิต เป็นผลให้เกิดความดันโลหิตสูง เลือดก็จะไปเลี้ยงมดลูกไม่พอ จึงส่งผลให้ลูกน้อยในครรภ์ตัวเล็กกว่าที่ควร

ส่วนคุณแม่ที่มีเรื่องตื่นเต้น เสียใจอยู่บ่อย ๆ จะทำให้หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เดี๋ยวเร็วเดี๋ยวช้า ซึ่งอาจจะมีผลต่อพัฒนาการทางด้านจิตใจของลูกในอนาคตได้

ผ่อนคลายความเครียดในวันทำงานของคนท้อง
  • ยกเท้าให้สูงไว้ คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรทำตัวเป็นนักเดินทน ยืนทน คุณแม่ควรหาเวลานั่งพักเสียบ้าง แต่ไม่ควรนั่งแบบห้อยเท้า ถ้าเป็นไปได้ให้พยายามยกขาพาดไว้บนเก้าอี้เสมอ
  • ฝึกนั่งยอง ๆ การนั่งท่ายอง ๆ บ่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอเมื่อมีโอกาส จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานและต้นขาของคุณแม่แข็งแรงขึ้น แถมยังช่วยให้คุณแม่ผ่านสมรภูมิการคลอดไปได้อย่างสบายขึ้นอีกด้วย
  • บริหารร่างกายเพื่อผ่อนคลาย ในขณะทำกิจวัตรประจำวัน คุณแม่สามารถบริหารร่างกายได้แทบจะตลอดเวลา เช่น การบริหารต้นคอ หัวไหล่ เชิงกราน จะช่วยให้ผ่อนคลายหายปวดเมื่อย ทั้งยังช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวกอีกด้วย
  • ของว่างใกล้มือ อย่าลืมว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องมีของกินจุบจิบไว้สำหรับรับประทานยามหิวฉับพลัน แต่ของว่างที่ว่านี้จะต้องเป็นของที่มีประโยชน์เท่านั้น คุณแม่อย่าได้เผลอกินเพลินจนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ของว่างเบา ๆ เช่น ผลไม้สด คุกกี้ ขนมปังกรอบสักแผ่น ฯลฯ
  • หาเพื่อนพูดคุย คุณแม่สามารถทำงานได้อย่างมีความสุขในขณะตั้งครรภ์ อาจจะได้พบคนที่เคยมีประสบการณ์การตั้งครรภ์มาก่อนในที่ทำงานก็ได้ การชวนพูดคุย ถามไถ่ หรือบอกเล่าถึงความรู้สึกร่วมกัน
ลาคลอดเมื่อไหร่ดี ?

ในช่วงเดือนหลัง ๆ ของการตั้งครรภ์ ร่างกายในส่วนต่าง ๆ ของคุณแม่จะต้องทำงานหนักขึ้น กระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อ และข้อต่อต่าง ๆ ก็ต้องทำงานหนักขึ้นด้วย การพักผ่อนให้สุขสบายอย่างเพียงพอและเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับวันคลอดที่ใกล้จะมาถึงจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก คุณหมอส่วนใหญ่จึงมักจะแนะนำให้คุณแม่ลาพักงานเมื่อมีอายุครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อน มีเวลาเตรียมตัว และจัดการเรื่องต่าง ๆ คุณแม่ไม่ควรกังวลหรือขยันทำงานมากจนเกินไป ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ที่คุณแม่ไปฝากครรภ์ไว้จะดีที่สุด

 

หลังคลอดจะกลับไปทำงานเมื่อไหร่ดี ?

เมื่อลูกน้อยออกมาลืมตาดูโลกแล้ว คุณแม่บางคนมักจะติดหนักเพราะไม่อยากจะจากลูกไปไหนแม้แต่เพียงเสี้ยววินาทีเดียว แต่ความเป็นห่วงเรื่องงานก็ยังมีความจำเป็นอยู่ คุณแม่จึงควรสอบถามเรื่องการลาคลอดกับที่ทำงานไว้ให้ชัดเจนตั้งแต่เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่มักจะให้สิทธิลาคลอดโดยไม่หักเงินเดือนได้ 45 วัน และคุณแม่สามารถหยุดงานต่อไปได้อีก 45 วันโดยไม่ได้รับเงินเดือน แต่จะได้รับเงินทดแทนการเสียรายได้จำนวนเท่ากับเงินเดือน รวมถึงค่าคลอดบุตร 13,000 บาทจากกองทุนประกันสังคม

สำหรับคุณแม่ที่เป็นข้าราชการคงจะดีใจขึ้นมาอีกหน่อย เพราะสามารถลาคลอดได้ 60 วัน โดยได้รับเงินเดือนเต็มปกติทุกเดือน แถมยังสามารถลาหยุดเพื่อเลี้ยงดูลูกได้อีก 30 วันอีกด้วย