จุดเปลี่ยนองค์กร กับการทำงานหลังยุค COVID-19

การทำงานในยุค Covid-19 หลายองค์กรมีนโยบายให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส พนักงานบางคน WFH ได้แค่ 6 เดือน บางคน 1 ปี หรือบางคนก็ทำงานที่บ้านมาตั้งแต่ Covid ซีซั่นแรก รวมระยะเวลาก็ 2 ปีเห็นจะได้ จาก ‘บ้าน’ ที่เคยเป็นที่พักอาศัย กลายเป็นเสมือนเป็นออฟฟิศใหม่ไปแล้ว บางคนถึงกับจัดโซนสำหรับทำงานขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะเพื่อสร้างบรรยากาศให้น่าทำงานมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์โรคระบาดมีแนวโน้มดีขึ้น บริษัททั้งหลายเริ่มให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศเหมือนเดิม แต่ปัญหาที่อาจตามมาก็คือ พนักงานที่ WFH มาเป็นเวลานานนั้นจะรู้สึกเหมือนเดิมไหม เพราะการทำงานที่บ้านสำหรับบางคนนั้นสะดวกสบายกว่าที่ออฟฟิศ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานจะลดลงหรือไม่ ออฟฟิศยังจำเป็นสำหรับการทำงานหรือเปล่า ‘บริษัท’ จะต้องเจออะไรบ้าง?

.

Workcation : Work กับ ธรรมชาติ

Work From Home กลายเป็นชีวิตรูปแบบใหม่ของเหล่าพนักงาน ทำงานที่บ้าน ไม่ต้องรีบร้อนในตอนเช้า ไม่ต้องเผชิญการจราจรที่เลวร้าย มีเวลาทำงานถึงหัวค่ำ ไม่ต้องรีบกลับบ้านเพราะกลัวรถติด บางคนทำงานจนถึงก่อนเข้านอนเลยก็มี ถึงแม้จะดู Work ไร้ Balance ไปบ้าง แต่ในระหว่างวันนั้น หากไม่มีงานเร่งด่วน พนักงานอาจมีความสุขกับการทำงานเรื่อย ๆ โดยยังคงบรรลุเป้าหมายความสำเร็จในแต่ละวันไปได้ นอกจาก Work from Home แล้ว ยังมีเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ Work from Anywhere หรือ Workcation เรียกง่าย ๆ ว่า มันคือการเปลี่ยนสถานที่ทำงาน จาก ‘บ้าน’ ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทะเล ภูเขา น้ำตก หรือทุ่งหญ้าเขียว ๆ การได้ทำงานอยู่กับธรรมชาติ ถึงแม้จำเป็น Workday ต้องโฟกัสอยู่กับงาน แต่ยังคงรู้สึกผ่อนคลายราวกับอยู่ในช่วงเวลาของการท่องเที่ยว การเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานอาจทำให้พนักงานแฮปปี้กับการทำงานมากขึ้น ส่งผลดีต่อสภาพจิตใจ ลดความเครียดในการทำงานได้เช่นกัน

.

Gadgets อำนวยความสะดวกในการทำงานเป็นสิ่งจำเป็น

เมื่อต้องทำงานที่บ้านเป็นเวลานาน ๆ หลายคนถึงขั้นลงทุนซื้อโต๊ะ-เก้าอี้ใหม่แบบยกชุดที่เข้ากับสรีระของตัวเองมากกว่าชุดโต๊ะ-เก้าอี้ในที่ทำงาน แถมด้วยการ CF อุปกรณ์เสริม ทั้งหมอนรองคอ เครื่องนวดคอ บ่า ไหล่ อวัยวะชิ้นสำคัญของเหล่าพนักงานออฟฟิศ อุปกรณ์ของใช้ที่เป็นของเราเอง ไม่ปะปนกับใคร และยังมอบความสะดวกสบายในการทำงานมากยิ่งขึ้น เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่คนไม่อยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกับคนอื่น ๆ โต๊ะ-เก้าอี้ที่มีรูปแบบตายตัว นั่งแล้วปวดคอปวดหลัง หรือแม้แต่ ลิฟต์และห้องน้ำ ที่ต้องใช้ร่วมกันในช่วงที่มีโรคระบาด อาจะไม่สบายใจสักเท่าไหร่ องค์กรคงต้องยอมลงทุนสักหน่อย เพื่ออำนวยความสะดวกเหล่านั้นให้กับพนักงาน ถึงแม้อุปกรณ์บางชิ้นจะมีราคาสูง ก็ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปตามกำลังขององค์กร อย่าลืมว่า ‘ทรัพยากรบุคคล’ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปได้ และสุขภาพของพวกเขาเหล่านั้น คือสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ หากคนในองค์กรมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีก็คงส่งผลดีไม่น้อยเลยหละ

.

การทำงานแบบ Hybrid จะแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

เมื่อ WFH มาเป็นเวลานาน หลายคนเกิดความรู้สึกว่า “ทำงานที่บ้านก็ได้ ไม่เห็นต้องเข้าออฟฟิศเลย” แล้วออฟฟิศยังจำเป็นอยู่หรือไม่? หลาย ๆ องค์กรเริ่มใช้รูปแบบการทำงานแบบ Hybrid โดยให้พนักงานเข้าออฟฟิศเมื่อมี Meeting เมื่อต้องทำงานร่วมกันแบบทีม หรือเมื่อมีกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกัน มีพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่ส่วนตัวสำหรับพักผ่อน โต๊ะทำงานแบบประจำของใครคนใดคนหนึ่งก็จะหายไป เหลือเพียง Hot Desks สำหรับคนที่แวะเวียนเข้าออฟฟิศ พื้นที่ส่วนที่เหลือถูกปรับเป็นพื้นที่สำหรับประชุม ห้องกิจกรรมสำหรับระดมสมองพร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัย บางองค์กรใช้วิธีคืนพื้นที่บางส่วนที่เคยเป็นออฟฟิศให้กับผู้ให้เช่าไป ทำให้ลดค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าบำรุงไปได้เกือบครึ่ง และยังสามารถนำงบประมาณจากการลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ไปใช้ในการปรับปรุงออฟฟิศส่วนที่เหลืออยู่ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

.

รูปแบบเวลา การขาด ลา มาสาย จะเป็นปัญหาน้อยลง เวลาในการทำงานจะยืดหยุ่นมากขึ้นจากการทำงานที่บ้าน ไม่มีการแทร็คเวลาเข้า-ออกงาน ไม่โฟกัสชั่วโมงการทำงาน แต่!!! ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานจะต้องออกมาเป็นไปตามความคาดหวังขององค์กร โดยจะวัดจาก KPI หรือ ผลประกอบการโดยรวมขององค์กร ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้หลายองค์กรยังไม่สามารถใช้นโยบายการทำงานแบบ Hybrid เพราะองค์กรรู้สึกว่า ไม่สามารถควบคุมพนักงานได้และเกรงว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการปฏิบัติงานของพนักงานจะต่ำลงนั่นเอง

.

ไม่เพียงแต่ในมุมขององค์กรเท่านั้น WFH ก็ไม่ได้เหมาะกับพนักงานทุกคน บางคนรู้สึกว่า ตัวเองนั้นอยู่ในสภาวะ Work ไร้ Balance ของแท้ ตื่นเช้ามาทำงานตามเวลา แต่กว่าจะวางมือจากการทำงานในตอนกลางคืนได้ก็ 5 ทุ่ม เที่ยงคืนแล้ว บางคนอาจจะติดลมและเพลินกับการทำงาน แต่บางคนอาจทำงานไม่ทันส่งเพราะบรรยากาศการทำงานไม่กดดันเหมือนในออฟฟิศ ชิลไปเรื่อย รู้ตัวอีกทีก็มืดเสียแล้ว

.

ถึงแม้จะมีคำแนะนำหรือแนวทางใหม่ ๆ สำหรับองค์กรเพื่อใช้ปรับรูปแบบการทำงานให้เข้าถึงพนักงานในยุคฟื้นฟูจาก Covid-19 แต่ใช่ว่าทุกองค์กรจะสามารถนำแนวทางเหล่านั้นไปใช้ได้ทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับระเบียบ ข้อปฏิบัติ รูปแบบงาน หรือแม้แต่วัฒนธรรมองค์กรซึ่งเป็นปัจจัยหลัก ดังนั้นวิธีการที่องค์กรจะทำการปรับเปลี่ยนการทำงานวิถีใหม่ได้นั่น คงต้องใช้วิธีการหารือ พูดคุย และทำความเข้าใจกับพนักงาน รับข้อแนะนำและนำมาวางแผนให้เข้าถึงและเข้าใจคนในองค์กร รวมถึงประเมินความเป็นไปได้ในข้อเรียกร้องของทุกฝ่าย แบบไหนที่คนส่วนมากจะยอมรับ แฮปปี้ และพร้อมจะปรับเปลี่ยน มีเพียงคนในองค์กรเท่านั้นแหละค่ะ ที่จะสามารถช่วยให้เกิดขึ้นได้

.

เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน 😊

.

References :

https://thematter.co/social/workplace/how-wfh-changes-our-life/151621

https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/126846