กฎหมายน่ารู้ ฉบับ HR มือใหม่ : วันหยุด วันลา ตามกฎหมาย หยุดได้กี่วันกันนะ…?
วันหยุด วันลา ถือเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการที่องค์กรมอบให้พนักงาน แล้ววันลาที่ HR มอบให้ลูกจ้างนั้น เป็นไปตามกฎหมายหรือเปล่านะ บางที่ให้วันหยุดและสิทธิ์ในการลาหยุดมากจนรู้สึกว่า องค์กรนี้ใจดีจังเลย ในขณะที่บางที่นั้น วันหยุดตามประเพณียังต้องไปทำงาน แถมสิทธิ์ในการลาหยุดนั้นน้อยกว่าที่อื่น ๆ
บทความนี้จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับวันหยุดตามกฎหมาย และสิทธิ์ในการลาหยุดตามกฎหมาย ที่ทั้ง HR และผู้ปฏิบัติงานต้องทราบ!!! HR เองก็จะต้องดูแลสิทธิ์ส่วนนี้ให้ครอบคลุมเพื่อป้องกันการฟ้องร้องทางกฎหมาย ในส่วนของลูกจ้างก็ต้องทราบไว้เพื่อไม่ให้โดนเอาเปรียบนะคะ
.
มาพูดถึง เวลาทำงาน และเวลาพัก กันก่อน
กฎหมายกำหนดให้เวลาการทำงานของลูกจ้าง ไม่เกิน 48 ชั่วโมง/สัปดาห์
– หากเป็นงานด้านพาณิชยกรรม หรืองานทั่วไป จะให้ทำงาน ไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน ส่วนมากก็จะทำงานกัน 5 วัน จันทร์-ศุกร์
– หากเป็นงานอันตรายต่อสุขภาพตามกฎกระทรวง จะให้ทำงาน ไม่เกิน 7 ชั่วโมง/วัน และ ไม่เกิน 42 ชั่วโมง/สัปดาห์ นั่นเป็นสาเหตุที่เรามักเห็นชาวโรงงานไปทำงานวันเสาร์ และได้หยุดแค่วันอาทิตย์นั่นเอง
– งานปิโตรเคมี ทำงานได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง/วัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมง/สัปดาห์
– เวลาพักใน 1 วัน ต้อง ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง (หลังจากทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชั่วโมง) หากตกลงกันว่า พักครั้งละไม่ถึง 1 ชั่วโมง ก็ต้องได้พักมากกว่า 20 นาที
.
วันหยุดประจำสัปดาห์
ต้องไม่น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์
และห่างกันไม่เกิน 6 วัน หมายความว่า 1 สัปดาห์ต้องได้หยุดพักอย่างน้อย 1 วัน
– หากเป็นงานอื่น ๆ เช่น งานโรงแรม งานขนส่ง งานในถิ่นทุรกันดาน นายจ้างและลูกจ้างอาจทำข้อตกลงให้สะสมวันหยุดประจำสัปดาห์ไปหยุดทีเดียวเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายใน 4 สัปดาห์ที่ทำงานติดต่อกัน
– งานด้านปิโตรเคมี แท่นขุดเจาะ จะมีข้อตกลงพิเศษสำหรับวันหยุด (มักจะเห็นทำงาน 15วัน หยุด 15 วัน / ทำ 20 หยุด 20 / ทำ 28 หยุด 14วัน ก็มีนะ…)
.
วันหยุดตามประเพณี
– ต้องประกาศให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า 1 ปี (องค์กรส่วนมากจะออกปฏิทินวันหยุด หรือ List วันหยุดทางอีเมลเลย)
– ให้หยุดไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ
– หากวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันทำงานของลูกจ้าง ต้องให้หยุดชดเชย
*หากนายจ้างกำหนดวันหยุดไม่ครบตามกฎหมาย มีความผิดและมีโทษ หากต้องการให้ลูกจ้างมาทำงานต้องจ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาทำงานในวันหยุดให้ถูกต้อง
– ต้องแจ้งจำนวนวันหยุดพักร้อนให้ลูกจ้างแต่ละคนทราบ ทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิ์หยุดพักผ่อนประจำปีพัก (พักร้อน) ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน
– สามารถทำข้อตกลงสะสมวันหยุดพักร้อนที่ใช้ไม่หมดไปใช้ในปีถัดไปได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กร
– นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างในวันลาพักร้อนที่เหลือในวันที่ลูกจ้างลาออก (คำนวณจากวันทำงานและขึ้นอยู่กับนโยบายองค์กร)
.
สิทธิ์ในการลาหยุด
– ลาป่วย มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันที่ลาป่วยไม่เกิน 30วัน/ปี ลาป่วย 3 วันติดต่อกันขึ้นไป ต้องแสดงใบรับรองแพทย์
– ลาคลอด/ลาตั้งครรภ์ ไม่เกิน 98 วัน (จากเดิม 90 วัน เพิ่มวันลาไปตรวจครรภ์ เดือนละ 1 วัน จำนวน 8 เดือน) โดย 90 วันมี่ลาคลอดนับรวมวันหยุด(วันหยุดตามประเพณี/วันหยุดประจำสัปดาห์)ระหว่างวันที่ลาด้วย / หากลากไปตรวจครรภ์ประจำทุกเดือน ถือว่าเป็นการ ‘ลาคลอดหรือลาตั้งครรภ์’ ไม่ใช่ ‘ลาป่วย’ ก็จะนับรวมไปใน 98 วันนั้นเลย แต่หากลูกจ้างไม่ได้ใช้สิทธิ์ลาไปตรวจครรภ์ 8 วัน ก็นำมาทบกับการลาหลังคลอดได้ และลูกจ้างที่ลาคลอดจะได้รับเงินเดือนเท่ากับค่าจ่างในวันทำงาน แต่ไม่เกิน 45 วัน (บางองค์กรใจดี อาจจ่ายค่าจ้างเป็น 45+8 วัน ขึ้นอยู่กับการตกลงกัน)
– ลาทำหมัน ระยะเวลาตามที่แพทย์ออกใบรับรองให้ และมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างด้วย
– ลากิจ ลาเพื่อทำธุระจำเป็น จำนวนวันขึ้นอยู่กับข้อตกลงของบริษัทที่กำหนดให้ลากิจได้โดยยังได้รับค่าจ้าง แต่กฎหมายกำหนดไว้ว่า สามารถลากิจได้โดยได้รับค่าจ้าง ไม่น้อยกว่า 3 วัน
– ลาเข้ารับราชการทหาร ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อเข้ารับราชการทหารตลอดระยะเวลาที่ทำการลา แต่ไม่เกิน 60 วัน/ปี
– ลาเพื่อเข้ารับการฝึกอบรม กรณีนี้ลูกจ้างสามารถลาได้ โดยแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ซึ่งอาจได้รับหรือไม่ได้รับค่าจ้างขึ้นอยู่กับลักษณะงานและนโยบายขององค์กร และนายจ้างมีสิทธิ์ไม่อนุญาตให้ลา หากเห็นว่าการลามีผลกระทบกับองค์กรหรือเคยลามาแล้วไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือ 3 ครั้ง
.
ในพาร์ทของวันหยุดและวันลา ที่ HR รวมถึงลูกจ้างควรทราบไว้ก็จะมีประมาณนี้ ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมแนะนำให้อ้างอิงจากองค์กรของท่าน เพราะบางที่ก็ใจดี๊ใจดี หยุดกันเก่ง ทั้งคริสต์มาส ตรุษจีน บางที่ก็ไม่ให้หยุดแม้วันสำคัญทางศาสนา กะพาที่บ้านไปทำบุญ แต่ก็ต้องคอตก ชาวบ้านเขาได้หยุดกัน ฮ่าๆๆๆ
.
บทความหน้าเราจะมาพูดถึงเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ ทีลูกจ้างควร(ต้อง)ได้รับกัน รอติดตามนะคะ ^^
.
References :
http://www.boss-groups.com/images/E08.pdf
https://www.dharmniti.co.th/timework-law-2551/
https://www.prosoft.co.th/Article/Detail/142500
https://www.flash-hr.com/blog/maternity-leave-thai-labour-law