ตั้งรับอย่างไรกับการลาออกครั้งใหญ่หลังโควิค-19

เพราะระยะเวลากว่า 2 ปีที่ทั่วทั้งโลกอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการระบาดครั้งใหญ่นี้ทำให้รูปแบบชีวิตการทำงานของผู้คนเปลี่ยนไปแบบสิ้นเชิง

แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ผลสำรวจหลายที่ระบุไปในทางเดียวกันว่า เมื่อโควิดเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มฟื้น (แม้จะยังมีการระบาดต่อไปก็ตาม) คนจะลาออกจากงานกันมหาศาลเพื่อไปหางานใหม่ หรือที่เรียกว่า Great Resignation

เพราะการทำงานช่วงโควิด พนักงานหลายคนถูกกดดัน เครียดจากการทำงานจากที่บ้าน ต้องปรับตัวกับประชุมที่มีมากเป็นพิเศษ ไปไหนไม่ได้ อยู่บ้านทุกวัน ต้องทำยอดขายและโดนติดตามงานตลอดเวลา รู้สึกอึดอัด อยากเป็นอิสระในการทำงาน อยากเปลี่ยนงาน แต่ช่วงโควิด ทุกคนต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ไม่กล้าขยับตัวลาออก หรือไปเริ่มธุรกิจใหม่ จึงต้องอดทน เกาะฐานเดิมของตัวเองอย่างแน่นหนา

หากวิกฤติผ่านพ้นไป มองเห็นโอกาสมากขึ้น ต้องการชีวิตสมดุล เกิดแรงผลักที่อยากเป็นอิสระ เมื่อมีคนมาเสนองานใหม่ ให้เงิน ให้ตำแหน่ง และงานที่ท้าทาย ก็ทำให้คนเก่งและมีความสามารถกลุ่มนี้ พร้อมกระโดดไปที่ใหม่ บรรยากาศใหม่ ค้นหาความท้าทายในชีวิต และอิสระภาพการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่ผลสำรวจจาก Adobe ในจำนวนแรงงาน 5,500 คน พบว่า 56% ของคนทำงานที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี บอกว่า พวกเขากำลังวางแผนที่จะเปลี่ยนงานในปีหน้า ส่วนผลการสำรวจจาก Microsoft และ Bankrate ก็ออกมาในทำนองเดียวกัน เมื่อผลออกมาว่า Gen Z ถึง 54% และ 77% ตามลำดับกำลังคิดที่จะลาออกจากงาน!!!

แล้วทั้ง HR และผู้บริหาร จะสร้างเกราะป้องกันไม่ให้คนเก่งหนีจาก ไม่ให้พนักงานถูกขโมยได้อย่างไร  เป็นงานสำคัญไม่แพ้กับการนำพาธุรกิจให้รอดจากวิกฤต ธุรกิจจะเติบโตได้ต้องอาศัย “คน”  นี่เป็นอีกหนึ่งโจทย์ของภาคธุรกิจที่ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเกราะป้องกัน เพื่อรักษาพนักงานของบริษัทไว้

องค์กรจะรักษาพนักงานให้อยู่กับเราอย่างไร?
  • ข้อแรก บริษัทควรคิดทบทวนว่าจะรักษาวัฒนธรรมในองค์กร พร้อมๆ กับช่วยให้พนักงานรู้สึกเชื่อมโยงกับองค์กรและหัวหน้างาน ในสภาพที่ต้องทำงานระยะไกลได้อย่างไร

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือไม่ใช่ทำให้พวกเขาเชื่อมโยงกับองค์กร ด้วยการให้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศเต็มเวลาอีกครั้ง เพราะผลสำรวจชี้ว่า พนักงานอยากทำงานแบบยืดหยุ่นต่อไป แม้สถานการณ์การระบาดจะเริ่มคลี่คลายแล้วก็ตาม โดยพนักงานส่วนใหญ่ต้องการ ทำงานในรูปแบบ Hybrid หรือผสมผสานระหว่างการทำงานที่ออฟฟิศและจากที่อื่นต่อไป

  • ข้อสอง การระบาดครั้งนี้ทำให้ผู้คนกังวลมากขึ้นว่าจะไม่ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงาน ยกเว้นว่าจะลาออกจากบริษัทเท่านั้น

เนื่องจากการระบาดทำให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับตัวหลายด้าน และดูแลพนักงานในด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต จนโฟกัสการฝึกอบรมทักษะใหม่ๆ ให้พนักงานน้อยลง

ดังนั้น สิ่งที่องค์กรต่างๆ ควรทำคือการยื่นข้อเสนอที่จะเสริมสร้างอนาคตให้พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการหนทางในการอัพสกิล (upskill), รีสกิล (reskill) ซึ่งหมายถึงการต่อยอดทักษะที่มีอยู่เดิม และเพิ่มทักษะใหม่ๆ  นอกจากนี้องค์กรยังควรมองไปถึงการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งอาจช่วยจัดการกับข้อกังวลของพนักงานอย่างเรื่องความยืดหยุ่นทางการเงินออกไปได้

สุดท้ายนี้ เพราะเมื่อคนสามารถหางานทำได้จากทุกที่ พวกเขาก็จะมองหาองค์กรที่ให้ผลตอบแทนที่ดี อยู่แล้วมีโอกาสเรียนรู้และก้าวหน้า องค์กรที่คำนึงถึงสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (work-life balance) ของพนักงานด้วย จะรักษาพนักงานที่สำคัญขององค์กรไว้ได้ แต่หากองค์กรไม่สามารถมอบสิ่งเหล่านั้นให้พนักงานได้ ท้ายที่สุดก็จะสูญเสียพนักงานที่มีความสามารถไปนั่นเอง

อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพจาก https://workpointtoday.com/  https://www.bangkokbiznews.com/ https://www.nationtv.tv/original/