เตรียมตัวอย่างไร ถ้าต้องลาออกจากงาน

“อยากลาออกจากงาน” คือความรู้สึกที่เกิดกับมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ไม่ว่าคุณจะอยากลาออกจากงานด้วยเหตุผลอะไร มันมีสิ่งที่คุณควรคำนึง หรือทบทวนให้ดีก่อนที่จะทำการลาออกจากงานเช่นกัน

ก่อนลาออกจากงาน มีหลายเรื่องที่ต้องเตรียม คำถามที่พุดขึ้นมาในหัว อย่างเช่น ออกจากงานแล้วจะมาทำอะไร? ออกจากงานที่มั่นคงมาเป็นฟรีแลนซ์ดีไหม? หรือออกแล้วจะใช้ชีวิตอย่างไรถ้าว่างงาน? และอีกมากมายหลายคำถาม แต่สุดท้ายการที่คุณเลือกลาออกจากงาน คุณก็ต้องเตรียมตัวให้ดี วันนี้เรามีการเตรียมตัวก่อนลาออกมาแนะนำ

สิ่งที่ควรทำก่อนลาออกจากงาน
  1. ก่อน”ลาออก” ควรลดภาระให้น้อยที่สุด “หนี้สิน” คือสิ่งที่ต้องนำมาคิดให้ดีก่อนที่จะลาออก เพราะสิ่งนี้จะตามไปเป็นรายจ่ายของคุณหลังออกจากงาน ฉะนั้นเพื่อให้หลังออกจากงานไปแล้วชีวิตคุณจะไม่ลำบากจงวางแผน เพื่อจัดการภาระนั้นให้เรียบร้อย หรือเหลือน้อยที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจลาออก
  2. เงินสำรองฉุกเฉิน ก่อนลาออกการสำรองเงินไว้สักก้อนสำหรับการออกจากงานไปแล้วยังไม่ได้งานใหม่ หรือยังไม่ได้มีรายได้เข้ามา การเตรียมให้พอสำหรับการใช้ชีวิตสัก 1 ปี ก็เป็นระยะเวลาที่เพียงพอกับการหาอะไรทำเพื่อสร้างรายได้เข้ามาใหม่ หรือได้งานใหม่ก่อน เพื่อชีวิตที่ไม่เร่งรีบ หรือเครียดจนเกินไป เพราะโลกแห่งความจริงไม่ได้ใจดีกับเราขนาดนั้น การวางแผนเพื่อความอยู่รอดจึงจำเป็น ต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกจริงๆ
  3. มองหางานใหม่ หรือสิ่งที่คุณอยากทำ การมองหางานใหม่ หรือหาข้อมูลกับสิ่งที่อยากทำเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้น การใช้เวลาศึกษา ทดลองทำก่อนออกจากงานจริงๆ ทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่สามารถทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อออกจากงานไปแล้วคุณจะสามารถมีรายได้อย่างต่อเนื่องทันที ในกรณีที่ภาระของคุณมีมากเกินกว่าที่จะทำข้อแรกได้อย่างลุล่วง
เมื่อคุณวางแผนและเตรียมการทุกอย่างเรียบร้อยแล้วการลาออกอย่างมีชั้นเชิง คือศิลปะที่คุณควรมีเช่นกัน
เทคนิคการลาออกแบบมีชั้นเชิง
  1. เลี่ยงการลาออกเพราะ “เกลียดงาน” “ทะเลาะกับนายจ้าง” บางทีคุณอาจรู้สึกเกลียดงานที่ทำอยู่ หรือรู้สึกไม่ชอบหน้านายจ้างของคุณ นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร แต่คุณก็ไม่ควรนำเหตุผลเหล่านี้มาใช้กับการลาออกจากงาน ถ้าคุณไม่คำนึงถึงใบประเมินจากบริษัท อย่างน้อยคุณก็ควรคำนึงถึงอนาคตเอาไว้บ้าง บางทีคุณอาจต้องกลับมาทำงานในบริษัทเดิมอีกครั้ง หรือบังเอิญต้องร่วมงานกับคนในบริษัทเดิมของคุณ หรือแม้กระทั่งเจ้านายของคุณอาจรู้จักใครสักคนในที่ทำงานใหม่ของคุณก็เป็นได้ ดังนั้น สร้างศัตรูไว้ที่ไหนก็ได้แต่ต้องไม่ใช่ที่ทำงาน
  2. ลาออกแบบไม่ให้เสียน้ำใจ เมื่อตัดสินใจลาออกแล้ว คุณควรบอกเจ้านายด้วยตัวเอง บอกถึงเหตุผลที่ทำให้คุณตัดสินใจไปทำงานที่บริษัทใหม่ เช่น ความก้าวหน้ามากกว่า เงินเดือนมากกว่า การเดินทางที่สะดวก ฯลฯ ทั้งนี้ ควรทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร โดยแจ้งล่วงหน้าไปยังบริษัทอย่างน้อย 1 เดือนด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณกลัวที่จะเผชิญหน้าเจ้านาย และคนในออฟฟิศ ก็ควรวางแผนที่จะบอกข่าวนี้กับเจ้านายในตอนเย็นก่อนวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ให้เจ้านายคุณและตัวคุณได้มีเวลานั่งคิดทบทวน และเตรียมรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาหลังจากการลาออกของคุณ
  3. ออกจากงานให้สง่างาม ก่อนที่จะออกจากงาน อย่าลืมที่จะทุ่มเทและสะสางงานให้เสร็จสิ้นเสียก่อน และถ้าเจ้านายของคุณต้องการให้คุณหาคนมาทำงานแทนคุณ คุณก็ควรอาสาสอนงานให้เด็กใหม่ก่อนจะถึงวันสุดท้ายของการทำงาน ทั้งนี้ ไม่ควรแสดงความดีใจออกนอกหน้าในวันสุดท้ายที่คุณทำงาน สิ่งที่คุณควรทำก็คือ ตรวจเช็คให้ถี่ถ้วนว่าคุณไม่ได้นำทรัพย์สินของบริษัทติดไปด้วย และอย่าลืมกล่าวขอบคุณเพื่อนร่วมงาน และเจ้านายด้วย
  4. ทิ้งเรื่องร้ายเอาไว้ เก็บเอาแต่สิ่งดี ๆ ไป คุณต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ดี ๆ มาประยุกต์ใช้กับการเริ่มต้นทำงานในที่ใหม่ ทั้งนี้ อย่าพูดจาว่าร้ายบริษัทเก่า หรือเจ้านายเก่าให้ที่ทำงานใหม่อย่างเด็ดขาด สุดท้ายนี้ เมื่อคุณออกจากงาน ก็ไม่ใช่ว่าคุณกับเพื่อนร่วมงานต้องจบไปด้วย ติดต่อกันไว้บ้างก็เป็นเรื่องที่ดี บางทีคุณอาจช่วยเหลือ ติดต่อธุรกิจกับเพื่อน หรือเจ้านายเก่าได้อีกด้วย
“เพราะการลาออกจะเป็นสิ่งที่คุณตัดสินใจด้วยตัวเอง ฉะนั้นจงไตร่ตรองอย่างมีเหตุผล และถี่ถ้วน ก่อนตัดสินใจยื่นใบลาออก หวังว่าข้อแนะนำในการทบทวนหรือเตรียมความพร้อมก่อนลาออกจากงาน จะสามารถช่วยในการตัดสินใจ และวางแผนเพื่อไม่ให้ชีวิตหลังจากออกจากงานของทุกท่านต้องเจอกับความเครียด หรือประสบความลำบากเมื่อต้องออกจากงาน”

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://th.jobsdb.com/

https://www.moneybuffalo.in.th/

รูปภาพ     https://www.pexels.com/