Peer-Assist การเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน
“เพื่อนช่วยเพื่อน” หรือ “Peer Assist” ในการจัดการความรู้ในองค์กรนั้น เป็นแนวคิดและเครื่องมือที่ดีเครื่องมือหนึ่งในการใช้งานบริหารจัดการความรู้ในองค์กรเป็นเครื่องมือ KM ที่ดีชิ้นเลยทีเดียว
แล้ว Peer Assisted หมายถึงอะไรกันแน่
Peer Assist หมายถึง การประชุมหรือการปฏิบัติการร่วมกันโดยมีผู้ที่ได้รับเชิญจากทีมอื่นๆ มาแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ กับทีมเจ้าบ้านที่เป็นผู้ร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นกลไกการเรียนรู้ก่อนลงมือทำกิจกรรมเพื่อให้รู้ว่าใครรู้อะไร และไม่ทำซ้ำในสิ่งที่เคยมีผู้ทำพลาด ตลอดจนเรียนรู้วิธีลัดและสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนจากประสบการณ์ของทีมภายนอก ทำให้ได้มุมมองการทำงานหรือการแก้ปัญหาใหม่ๆ และเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านการเชื่อมโยงติดต่อระหว่างบุคคล สร้างความรู้ใหม่ๆร่วมกันและเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายบุคคลที่เข้มแข็งมากขึ้น
อย่างที่เรารู้กันว่าการจัดการความรู้นั้นมีหลักใหญ่ใจความอยู่ 2 อย่างคือ
- เครื่องมือที่ช่วยในการ “ เข้าถึง ความรู้ ” ซึ่งเหมาะสำหรับความรู้ประเภท Explicit
- เครื่องมือที่ช่วยในการ “ ถ่ายทอด ความรู้ ”ซึ่งเหมาะสำหรับความรู้ประเภท Tacit
ซึ่งต้องอาศัยการถ่ายทอด โดยปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นหลัก การทำ Peer Assist นับเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่ช่วยในการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ โดยอาศัย “คน” เป็นธงนำ (People Driven) ผ่านการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ก่อนการทำกิจกรรมหรืองานใด ๆ ซึ่งการทำ Peer Assist จะช่วยเปลี่ยนความรู้ที่มีอยู่ในตัวบุคคล (Tacit Knowledge) ให้กลายมาเป็นความรู้ถ่ายทอดได้ (Explicit Knowledge) และความรู้ที่ได้จากการร่วมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เมื่อผ่านการใช้งานจริง ก็จะกลายเป็นความรู้ในตัวบุคคลที่เพิ่มจำนวน “ผู้รู้” มากยิ่งขึ้น และเมื่อยิ่ง “รู้” ก่อน “ทำ” มากขึ้นก็จะช่วยให้โอกาสในการทำผิดพลาดน้อยลง
วิธีการแบบ Peer Assist หรือ “เพื่อนช่วยเพื่อน” สามารถทำได้ ดังนี้
- กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าทำ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ทำไปเพื่ออะไร อะไรคือต้นตอของปัญหาที่ต้องการขอความช่วยเหลือ
- จัดหาวิทยากร หรือบุคลากร โดยตรวจสอบว่าใครที่เคยแก้ปัญหาที่เราพบมาก่อนบ้างหรือไม่ โดยทำแจ้งแผนการทำ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ของทีมให้หน่วยงานอื่นๆ ได้รับรู้ เพื่อหาผู้ที่รู้ในปัญหาดังกล่าว
- กำหนด Facilitator หรือผู้สนับสนุน และอำนวยความสะดวกในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทีม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ
- คำนึงถึงการวางตารางเวลาให้เหมาะสมและทันต่อการนำไปใช้งาน หรือการปฏิบัติจริง โดยอาจเผื่อเวลาสำหรับปัญหาที่ไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดขึ้น
- เลือกผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มีความหลากหลาย (Diverse) ทั้งด้านทักษะ (Skill) ความสามารถ/ความเชี่ยวชาญ (Competencies) และประสบการณ์ (Experience) สำหรับจำนวนผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนอยู่ที่ความเหมาะสมตามการพิจารณาแต่ละโครงการ
- มุ่งหาผลลัพธ์หรือสิ่งที่ต้องการได้รับจริงๆ กล่าวคือ การทำ “เพื่อนช่วยเพื่อน” นั้นจะต้องมองให้ทะลุถึงปัญหา สร้างทางเลือกหลายๆ ทาง มากกว่าที่จะใช้คำตอบสำเร็จรูปทางใดทางหนึ่ง
- วางแผนเวลาสำหรับการพบปะสังสรรค์ทางสังคม หรือการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ (นอกรอบ) สร้างบรรยากาศความกลมเกลียวทั้งในแผนก ระหว่างแผนก และองค์กรที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้
- กำหนดบทบาทของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน ตลอดจนสร้างบรรยากาศ เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
- แบ่งเวลาที่มีอยู่ออกเป็น 4 ส่วน คือ
- ส่วนแรกใช้สำหรับทีมเจ้าบ้านแบ่งปันข้อมูล (Information) บริบท (Context) รวมทั้งแผนงานในอนาคต
- ส่วนที่สองใช้สนับสนุน หรือกระตุ้นให้ทีมผู้ช่วยซึ่งเป็นทีมเยือนได้ซักถามในสิ่งที่เขาจำเป็นต้องรู้
- ส่วนที่สาม ใช้เพื่อให้ทีมผู้ช่วยซึ่งเป็นทีมเยือนได้นำเสนอมุมมองความคิด เพื่อให้ทีมเจ้าบ้านนำสิ่งที่ได้ฟังไปวิเคราะห์
- ส่วนที่สี่ ใช้สำหรับการพูดคุยโต้ตอบ พิจารณาไตร่ตรองสิ่งที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
ประโยชน์ของ “เพื่อนช่วยเพื่อน”
- เป็นการเรียนลัดวิธีการเรียน การทำงานต่างๆที่เราอาจจะเคยทราบมาก่อน สิ่งเหล่านี้จะมาจากประสบการณ์ เทคนิควิธีต่างๆของคู่เพื่อนช่วยเพื่อนหรือทีมเพื่อนช่วยเพื่อน
- เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ มุมมองความคิดต่างๆร่วมกันเพื่อช่วยกันพัฒนาความรู้เดิมที่มีอยู่ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
- สร้างความสัมพันธ์และความสามัคคี เพราะกระบวนการเพื่อนช่วยเพื่อนต้องเกิดจากการทำงานเป็นคู่หรือเป็นทีม ดังนั้นการมีปฏิสัมพันธ์อันดีต่อกันย่อมทำให้เกิดผลการเรียนรู้ที่ดีตามมา
“อย่างที่รู้กัน HR
คือฝ่ายที่จะมีส่วนอย่างมากในการพลักดันให้เกิดการสร้างการเรียนรู้ ภายในองค์กร การนำเครื่องมือ Peer Assist หรือหลักการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมภายในองค์กรนอกจากจะทำให้พนักงานมีความสามัคคีกลมเกลียวกันมาขึ้น ยังทำให้การทำงานภายในองค์กรมีความสุข เต็มไปด้วยมิตรภาพ และสุดท้ายสร้างประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน…”
ที่มา https://www.gotoknow.org/posts/115351
รูปภาพ https://www.pexels.com/