Office Politics

การเมือง ในออฟฟิศหรือองค์กร อาจเกิดขึ้นได้เสมอๆ เพราะสถานที่ทำงานก็เป็นอีกสังคมหนึ่งที่มีคนมาทำงานในหน้าที่ที่ต่างกัน ต่างความคิด มีเป้าหมายที่ได้รับมอบหมาย และมีเป้าหมายในชีวิตการทำงานที่แตกต่างกัน
         ดังนั้นการกระทำและการดำเนินกิจกรรมต่างๆก็แตกต่างกันไป การเมืองในสำนักงานอาจเกิดขึ้นได้ทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ บางทีฝ่ายหนึ่งก็มองว่าไม่เห็นจะเป็นการเมืองเลย แต่อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะมองว่านี่แหละคือการเมือง(การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เป็นสาเหตุที่สำคัญทำให้เกิดการเมืองในสำนักงานและไม่ได้สร้างบรรยากาศในการทำงานที่เป็นทีม)
         การเมืองในที่ทำงานหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถขจัดไปจากองค์กรได้ สาเหตุที่เกิดขึ้นอาจเกิดได้หลากหลายมาก ในบทความนี้จะกล่าวถึงสัก 2-3 สาเหตุเพื่อเป็นแนวคิดในการแก้ไขและบริหารจัดการ ที่จะทำให้การเมืองเป็นการเมืองอย่างสร้างสรรค์
1. การแต่งตั้งบุคคลระดับหัวหน้า

ทุกองค์กรมีเป้าหมาย และเป้าหมายนั้นจะสำเร็จได้ต้องถูกขับเคลื่อนด้วยคน ฉะนั้นคนที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าจึงต้องเป็นคนที่มีความสามารถจริงๆ แต่ถ้าคนที่ได้รับการเลือกเข้ามามีความสามารถไม่ถึงการเมืองในออฟฟิศก็จะเกิดขึ้นทันที

2. การทำงานคือระบบห่วงโซ่

การทำงานนั้นเป็นระบบที่ส่งต่อกันเป็นช่วงฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องไม่มีแผนกใดแผนกหนึ่งที่ว่างงานจนเกินไป หรือเป็นแผนกที่ไม่สามารถทำรายได้ให้กับบริษัทได้ จนเกิดการเปรียบเทียบ แล้วสร้างให้เกิดปัญหาทางการเมืองในออฟฟิศขึ้นมา

3. สนใจแต่ภาพรวม ละเลยรายละเอียด

หากผู้บริหารปล่อยปะละเลยดูแต่สิ่งที่ได้มา แต่ไม่ดูในรายละเอียดในการได้มาของผลงาน อาจทำให้เกิดช่องว่างการรวมกลุ่มกันทำอะไรที่เป็นการทุจริตได้เพื่อให้ได้มาซึ่งผลงาน จนเกิดเป็นปัญหาทางการเมืองในออฟฟิศ

4. เป้าหมายองค์กรสำคัญน้อยกว่าเป้าหมายส่วนตัว

KPI หรือ OKRs คือตัวแปรสำคัญการให้ความสำคัญ KPI จนสนงานผลงานตัวเองมากว่าคนอื่นจะทำให้เกิดการเมืองในออฟฟิศทันที ส่วนการสร้าง OKRs ที่ไม่ชัดเจนก็ทำให้เกิดความสับสนในการทำงานเช่นกัน จนกลายเป็นการทำงานแบบต่างคนต่างอยู่ การพยายามให้ผ่านเป้าหมายการประเมินผลจึงถูกให้ความสำคัญจนเกิดการมองข้ามงานหรือแผนกอื่นไป

5. ระยะห่างของการทำงาน

การที่ไม่มีการมองเห็นกิจกรรมของแผนกอื่นว่าทำงานอะไรอยู่หรือไม่ทำ จนเกิดการจินตนาการไปเองจนสร้างความเข้าใจผิดในการทำงานซึ่งกันและกัน

จะเห็นได้ว่าสาเหตุที่ยกมานั้นเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการแบ่งแยกกลุ่ม ทั้งในส่วนการช่วงชิงอำนาจ การทุจริตเพื่อให้ได้มาซึ่งผลงาน และการขัดแย้งกันระหว่างแผนกหรือกลุ่มการทำงานซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

สรุปผลกระทบที่เกิดจากการเมืองในองค์กร
  • Communication Problem เกิดปัญหาด้านการสื่อสาร จากการไม่ประสานงานระหว่างกัน
  • Collaboration Problem เกิดปัญหาด้านความร่วมมือในการทํากิจกรรมภายในองค์กร
  • Alignment Problem เกิดปัญหาด้านการทํางานที่ไม่สอดคล้องกัน ส่งผลต่อระบบการทํางาน
  • Mental Problem เกิดปัญหาด้านสภาพจิตใจของพนักงานที่อยู่นอกกลุ่ม
  • Motivation Problem เกิดปัญหาด้านแรงจูงใจในการทํางาน จากการรับรู้ถึงพฤติกรรมเชิงการเมือง
  • Productivity Problem เกิดปัญหาด้านการลดลงของผลิตภาพจากพฤติกรรมเชิงการเมือง
  • Turn over Problem เกิดปัญหาด้านการลาออกของพนักงาน อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมในการทํางาน

จากสาเหตุที่ยกตัวอย่าง และผลกระทบที่เกิดมานั้น ผู้นำหรือผู้บริหารที่ดีสามารถหาทางป้องกันและแก้ไขได้ เช่น การแต่งตั้งหัวหน้างานที่มีความสามารถได้รับการยอมรับจากลูกน้อง การสื่อสารของผู้บริหารที่อธิบายถึงบทบาทหน้าที่ของแต่ละแผนกที่จำเป็นต่อองค์กร การสร้างวัฒนธรรมการทำงานโดยเป้าหมายที่ชัดเจน ช่วยเหลือกันและกัน รวมถึงการมีส่วนร่วม การละลายพฤติกรรมด้วยกิจกรรมกลุ่มในบางโอกาส อีกทั้งผู้บริหารต้องคอยสังเกตุและเอาใจใส่บรรยากาศและพฤติกรรมของพนักงานด้วยเช่นกัน

“การเมืองในองค์กร (Office Politics) คือพฤติกรรมที่อาศัยอำนาจนอกระบบมาทำการหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง เป็นสิ่งที่คนทำงานไม่พึงประสงค์ที่จะพบ ดังนั้นผู้นำที่ดีจึงควรหมั่นสำรวจว่าองค์กรมีพฤติกรรมเชิงการเมืองอยู่หรือไม่ หากเพิกเฉยหรือไม่รีบดำเนินการแก้ไข อาจนำไปสู่การสูญเสียพนักงานซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าขององค์กรไปได้”

ขอบคุณข้อมูลจาก

Podcast โดย คุณโธมัส (พิชเยนทร์ หงส์ภักดี) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Anitech

รับชมคลิปเต็มได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=2ZBDEMTiq4k

https://www.businessplus.co.th/

รูปภาพ

https://www.pexels.com/