Manager Burnout ภาวะหมดไฟ ของผู้นำครั้งแรก (First Time Manager)
เพราะภาวะหมดไฟในกลุ่มผู้นำมีอัตราเพิ่มมากขึ้นหลังเกิดโควิด-19 Gallup ได้ทำการสำรวจในปี ค.ศ.2020 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและพบว่าอัตราการหมดไฟของคนในตำแหน่งผู้นำยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีหัวหน้าแผนก และ Project Manager จำนวนมากที่ระบุว่าตนตกอยู่ในความเครียดบ่อยครั้ง หรือแทบจะตลอดเวลา สุขภาพจิตของผู้นำนั้นสำคัญ มันคือรากฐานสำคัญที่จะส่งต่อพลังงานไปสู่ลูกทีม หากผู้นำไม่พร้อมในการรับมือความกดดันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม โอกาสที่ทีมจะพังเป็นก้อนใหญ่ ๆ ก็มีมากขึ้น โดยเราสามารถแยกสาเหตุที่ทำให้ผู้นำหมดไฟอ้างอิงจากสถิติในปี ค.ศ.2021 ได้ดังนี้
– อัตราความเครียดและโรควิตกกังวลของคนที่เป็นผู้จัดการยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัยสำคัญ
– อัตราการเกิดโรคซึมเศร้าของผู้จัดการและ Project Manager ยังคงอยู่ในอัตราที่น่าเป็นห่วง
– มีผู้นำเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่รู้สึกว่าตนสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นโดยไม่เจอผลกระทบด้านสุขภาพจิต
คนที่เป็นผู้นำครั้งแรก (First Time Manager) คือกลุ่มผู้นำที่มีภาวะหมดไฟ (Burnout) มากที่สุด โดย Harvard Business Review ได้สำรวจเจาะไปที่กลุ่มคนที่เป็นผู้นำครั้งแรก (First Time Manager) โดยตรงกว่า 1,000 คน จาก 76 องค์กรใน 50 ประเทศทั่วโลกเพื่อหาคำตอบว่าภาวะหมดไฟส่งผลอย่างไรต่อการทำงานของพวกเขา และได้ข้อสรุปว่าสถานการณ์โลกในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ส่งผลเสียต่อการเป็นผู้นำมากที่สุด เพราะแม้การทำงานอยู่บ้าน (Hybrid Working) จะมีข้อดีหลาย ๆ ด้าน แต่การที่คนต้องเปลี่ยนจากผู้ตามมาเป็นผู้นำในสภาพสังคมที่เส้นแบ่งระหว่างเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวหายไปเป็นสิ่งที่เพิ่มความกดดันและภาระรับผิดชอบมากกว่าเดิม
วิธีแก้อาการหมดไฟ (Burnout) ของคนที่เป็นผู้นำครั้งแรก
- หาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ : การหาที่ยึดเหนี่ยวในทุกแง่มุมจะทำให้เราผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ไปได้ด้วยความเข้าใจ หากเรามีที่ยึดเหนี่ยวในองค์กร เราก็จะมีแหล่งข้อมูลไว้สอบถามหรือหาคำตอบว่าเนื้อหาที่แท้จริงของงานเป็นอย่างไร และเราจะเติบโตจากงานดังกล่าวไปได้แค่ไหน และในส่วนของที่ยึดเหนี่ยวภายนอก ก็จะช่วยให้เรามาความสุขมากขึ้นในเวลาที่ยากลำบาก อีกทั้งยังทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (Belonging) ของโลกใบนี้ เพราะการที่เราต้องพยายามคนเดียวโดยไม่รู้ว่ามีสิ่งใดในโลกที่เหมาะสมกลมกลืน (Common) กับเราจะนำไปสู่การโดดเดี่ยว (Isolate) ดังนั้นหัวข้อนี้เป็นสิ่งแรกที่ผู้นำรุ่นใหม่ทุกคนต้องทำ
- หาทางเพิ่มเวลาพักผ่อนให้ได้ : คติที่ผู้นำรุ่นใหม่หรือแม้แต่วัยทำงานทุกคนต้องมีก็คือหากคุณทำงานหนักได้ ก็ต้องหาเวลาพักผ่อนให้ได้ด้วย ดังนั้นถ้าเรารู้ตัวว่าเป็นคนบ้างานและไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองพักผ่อน เราก็ควรวางแผนตารางชีวิตโดยระบุช่วงเวลาที่บังคับตัวเองให้ออกห่างจากชิ้นงานทันทีโดยไม่มีข้อแม้ วิธีนี้จะช่วยให้เราฟื้นฟูพลังใจ, เพิ่มไฟในการทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้ก็ควรฝึกการแบ่งเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวให้ได้เช่น พยายามเลิกงานให้ตรงเวลา, ไม่ตอบอีเมลในตอนค่ำ รวมถึงถ่ายทอดทัศนคตินี้ไปสู่ลูกทีมที่ต้องทำงานร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการบริหารจัดการในระดับย่อย (Micro-Management) : แน่นอนว่าผู้นำรุ่นใหม่ต้องไม่อยากให้การทำงานมีข้อผิดพลาดและอยากทำหน้าที่ให้ดีที่สุดจึงพยายามเข้าไปควบคุมในทุกขั้นตอนอย่างละเอียด แต่ผลสำรวจได้เผยว่าการจัดการในระดับย่อยทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการหมดไฟทั้งของผู้นำและตัวพนักงานเอง ส่วนวิธีการแก้ก็ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการลดจำนวนประชุมลงให้เหลือเพียงแค่เวลาที่สำคัญเท่านั้น นอกจากนี้ยังควรให้อิสระในการทำงานเท่าที่ทำได้แล้วค่อยดูแลอยู่ห่าง ๆ หรืออาจกล่าวในภาพกว้างได้ว่าผู้นำต้องไว้ใจลูกทีมและพร้อมช่วยแก้สถานการณ์ แต่ก็ต้องปล่อยให้พวกเขาเรียนรู้ด้วยตัวเองเช่นกัน
- ยอมรับว่าเราไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง : ผู้นำต้องยอมรับก่อนว่าเราเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งและไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตนเองแม้จะพยายามมากแค่ไหน เราต้องรู้จักถามข้อมูลจากผู้รู้เช่นคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่า, พนักงานจากแผนกอื่น ๆ หรือแม้แต่ลูกทีมของเรา เพราะปัจจุบันความรู้ไม่ได้มาจากชั้นเรียนอีกต่อไป และความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของคนอื่นก็สามารถกลายเป็นพลังสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้เช่นกัน การสอบถามคนรอบตัวยังสะท้อนให้เห็นว่าเราเป็นผู้นำที่พร้อมรับฟังความเห็น กลายเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ร่วมงานไปในตัว
นี่คือสิ่งที่คนที่เป็นผู้นำครั้งแรก (First Time Manager) จะต้องลองพยายามทำเพื่อดึงตัวเองออกจากภาวะหมดไฟให้ได้ เพื่อสร้างพลังให้กลับขึ้นมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ความยากลำบากคือหากภาวะนี้ยังเกิดกับผู้นำแล้วจะดูแลลูกน้องได้อย่างไร…ติดตามได้ใน EP3
ที่มา https://th.hrnote.asia/personnel-management/220815-manager-burnout/
รูปภาพ https://www.pexels.com/