HR กับการบริหารจัดการ Boomerang Employees (EP1)
HR หลายองค์กรคงได้รับประสบการณ์ที่พนักงานคนสำคัญลาออกไปแล้วไม่สามารถรั้งไว้ได้หรือ ปล่อยให้ออกไปเพราะคิดว่าไม่กระทบกับองค์กร แต่สุดท้ายก็เกิดผลกระทบอันหนักหน่วงจนอยากจะดึงกลับมาอีกครั้ง ยิ่งในยุคที่รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งผู้คนมีความคิดในเรื่องปัจเจกบุคคลสูงเป็นพิเศษ แนวคิดนี้นำไปสู่การลาออกครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Resignation) ที่เปลี่ยนวิธีคิดของ HR ไปโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกการลาออกที่ประสบความสำเร็จ การอยากกลับไปทำงานที่เดิมจึงเป็นเหมือนการกลับไปหา Comfort Zone ที่ทั้งพนักงานและองค์กรต่างเรียกร้องหากัน เหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญจึงมองว่า Boomerang Employees จะเป็นเทรนด์ใหม่ของการสมัครงาน ติดตามทุกสิ่งที่คุณควรรู้ได้ที่นี่
Boomerang Employees คืออะไร?
Boomerang Employees หมายถึงคนที่เคยออกจากบริษัทแห่งหนึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามและกลับมาสมัครหรือถูกว่าจ้างกลับมาที่องค์กรเดิมอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเกิด Boomerang Employees สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยส่วนใหญ่แม้จะกลับมาที่เดิม แต่ก็จะเลือกอยู่ในแผนกใหม่หรือตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้มีผลวิจัยจาก Workforce Institute and Workplace Trends มาอธิบายภาพรวมให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ดังนี้
- พนักงานที่ออกจากบริษัทไปแล้วยินดีพิจารณาข้อเสนอจากบริษัทที่เคยทำงานด้วย และมีถึงร้อยละ 40 ที่ตัดสินใจกลับไป
- คนแต่ละช่วงอายุมีความคิดเรื่องการกลับไปทำงานกับบริษัทเดิมแตกต่างกัน กล่าวคือคนยุคมิลเลนเนียลประมาณ 50% ยินดีรับฟังข้อเสนอ ขณะที่ชาว Gen X มีจำนวน 33% และชาว Baby Boomers อยู่ที่เพียง 29%
- 64% ของพนักงานที่กลับมาบริษัทเดิมย้ำว่าองค์กรส่วนใหญ่ไม่รู้วิธีรักษาความสัมพันธ์กับอดีตพนักงาน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อดีตพนักงานอยากกลับมาร่วมงานด้วย โดยเฉพาะกับพนักงานที่ประสบความสำเร็จหลังออกจากบริษัทไป
Boomerang Employees มักเริ่มต้นจากการลาออกของพนักงานด้วยเหตุผลหลัก ๆ 4 ข้อคือเพื่อหางานที่มีค่าจ้างมากขึ้น, เพื่อลองเดินตามความฝันหรือความชอบส่วนตัว, เพื่อจัดการปัญหาชีวิตเช่นย้ายบ้านหรือความเจ็บป่วย และเพื่อพักผ่อนจนกว่าจะพร้อมทำงานอีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตาม Career Path ที่แต่ละคนวางไว้ สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่พนักงานไม่ได้จดจ่ออยู่กับการทำงานที่เดิมไปนาน ๆ แต่เลือกเปลี่ยนงานจนกว่าจะพบสิ่งที่ตอบโจทย์จริง ๆ มากกว่า
มุมมองนี้อาจดูเอนเอียงไปที่ผลประโยชน์ของพนักงานเป็นหลัก แต่สิ่งที่บริษัทจะได้กลับมาก็คือพนักงานที่เข้าใจวิธีการทำงานขององค์กรอยู่แล้ว โดยผลวิจัยใจหัวข้อ The Corporate Culture and Boomerang Employee Study เผยว่าทีม HR ถึง 56% ยินดีอย่างยิ่งที่จะพิจารณาใบสมัครของอดีตพนักงานหากจากลากันด้วยดี และปัจจุบันบริษัทเปิดรับการว่าจ้างพนักงานเก่ามากกว่าในอดีตถึง 76% ดังนั้น Boomerang Employees คือสิ่งที่ HR ต้องเตรียมตัวรับมือเพื่อให้พร้อมแข่งขันในตลาดของการจ้างงาน
Boomerang Employees มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร?
ข้อดีของ Boomerang Employees
- Boomerang Employees ช่วยให้การส่งต่องานง่ายขึ้น : อดีตพนักงานจะสามารถปรับตัวเข้ากับองค์กรได้ดีกว่าพนักงานใหม่ ยกตัวอย่างเช่นหากเขากลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมก็จะรู้ทันทีว่าหน้าที่ของของตนคืออะไร เป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้เป็นอย่างไร และมีรูปแบบการทำงานภายในอย่างไร แน่นอนว่าแม้อาจมีความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้างในระหว่างที่พนักงานลาออกไป แต่ก็ใช้เวลาน้อยกว่าคนอื่นแน่นอน หรือหากถูกจ้างมาในตำแหน่งใหม่ (ไม่ว่าจะต่ำลงหรือสูงขึ้น) อดีตพนักงานก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ตั้งแต่ต้นเพราะมีความรู้พื้นฐานขององค์กรอยู่ก่อนแล้ว นี่คือข้อได้เปรียบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีระบบซับซ้อน, แผนกมากมาย หรือมีลำดับขั้นในการทำงานที่ละเอียดเป็นพิเศษ
- Boomerang Employees ช่วยนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาให้กับองค์กร : อดีตพนักงานจะมีความจงรักภักดีกับองค์กรมากกว่าพนักงานใหม่ เพราะถือว่าตนได้โอกาสกลับมาสู่บริษัทอีกครั้ง และจะพยายามพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าตัวเองมีศักยภาพสูงขึ้นกว่าเดิมแล้ว ต่างจากผนักงานใหม่ที่ไม่ได้มีความผูกพันอะไรและพร้อมจะย้ายงานทันทีหากเห็นว่ารูปแบบการทำงานไม่ตอบโจทย์ที่ต้องการ นอกจากนี้อดีตพนักงานยังมาพร้อมกับทักษะใหม่ ๆ อีกด้วย เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่พอย้ายไปทำงานกับบริษัทใหม่แล้วจะต้องศึกษาวิธีการทำงาน, วิสัยทัศน์, วัฒนธรรมองค์กร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้หากนำมาประยุกต์ใช้อย่างถูกวิธีก็จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรเนื่องจากบริษัทที่พนักงานย้ายไปนั้นก็มักเป็นบริษัทในสายงานเดียวกันหรืออาจเป็นบริษัทคู่แข่งด้วยซ้ำ ดังนั้นอดีตพนักงานจะสามารถตอบได้ชัดเจนว่าปัญหาขององค์กรคืออะไร จุดที่ยังสู้คู่แข่งในตลาดไม่ได้คืออะไร เป็นต้น
- Boomerang Employees ช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กร : สืบเนื่องจากประโยชน์ในข้อก่อนหน้า เมื่ออดีตพนักงานไม่จำเป็นต้องเข้าอบรมเพิ่มทักษะหรือช่วยปรับตัว บริษัทก็สามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ทันที โดยเฉพาะกับทาง HR Recruiter ที่เข้าใจดีว่าการจ้างพนักงานใหม่แต่ละครั้ง แม้จะเตรียมตัวศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด แต่ก็มีความเสี่ยงแฝงอยู่เสมอ ดังนั้นการเซ็นสัญญากับพนักงานที่เรารู้จักและเคยเห็นวิธีการทำงานมาแล้วก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้อีกมาก แถมยังเปิดโอกาสให้องค์กรนำเงินไปใช้ในส่วนอื่น ๆ ที่เกิดประโยชน์มากกว่า
ข้อเสียของ Boomerang Employees
- Boomerang Employees อาจทำให้บรรยากาศในการทำงานแย่ลง : หากอดีตพนักงานออกจากบริษัทครั้งแรกแบบมีปัญหา การกลับมาอีกครั้งย่อมสร้างความลำบากใจให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเป็นหน้าที่ของ HR ที่ต้องหาข้อมูลให้ละเอียดที่สุด โดยเฉพาะการสอบถามจากผู้ที่เคยมีประสบการณ์ร่วมกันโดยตรง ห้ามตัดสินใจรับเข้ามาด้วยเหตุผลที่เกิดจากการคิดไปเองเด็ดขาด
- Boomerang Employees อาจกลับมาสู่บริษัทเพราะเหตุผลด้านผลประโยชน์เท่านั้น : แม้จะไม่ชอบใจเท่าไรนัก แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาหากพนักงานจะสนใจเรื่องค่าตอบแทนมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กร ดังนั้น HR ต้องสังเกตว่าอดีตพนักงานที่สมัครเข้ามามีการติดต่อสื่อสารกับบริษัทอยู่เรื่อย ๆ หรือเพิ่งเข้าหาหลังจากที่บริษัทปรับสวัสดิการให้น่าดึงดูดมากขึ้น การหาแรงบันดาลใจในการกลับมาคือรากฐานสำคัญของเรื่อง Boomerang Employees เพราะหากเรารู้ว่าพนักงานดังกล่าวกลับมาด้วยเป้าหมายอะไร ก็เป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับ HR ในการบริหารจัดการให้องค์กรได้ประโยชน์มากที่สุด
- Boomerang Employees อาจปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง : อดีตพนักงานอาจเลือกกลับมาเพราะความสบายใจและคิดว่าจะได้ทำงานในแบบที่คุ้นเคยโดยไม่สนเลยว่าบริษัทเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน พวกเขาจะมององค์กรเป็นครอบครัวที่พร้อมสร้างความสุขให้กันตลอดเวลาจนเป็นเหมือนโลกในอุดมคติที่หากปล่อยไว้นาน พนักงานดังกล่าวจะไม่สามารถรับมือกับการเติบโตขององค์กรได้เลย ดังนั้นหน้าที่ของ HR คือการทำให้พนักงานอยู่ในโลกของความเป็นจริง ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการสัมภาษณ์ก่อนจะรับกลับมาทำงานอีกครั้ง
จะเห็นได้ว่าปัญหาของ Boomerang Employees สามารถแก้ไขได้ตั้งแต่ต้นตอหาก HR มีความใส่ใจในรายละเอียดมากพอ โดยสามารถสังเกตสัญญาณเตือนได้จาก 3 บริบทหลักได้แก่
- เมื่อมีเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือคนที่เกี่ยวข้องแจ้งให้ทราบว่าอดีตพนักงานท่านนี้เคยสร้างปัญหาให้บริษัทมาก่อน ทาง HR ต้องเข้ามาตรวจสอบและชั่งน้ำหนักทันทีว่าการจ้างกลับมาอีกครั้งจะทำให้บรรยากาศในการทำงานเสียหายหรือไม่
- เมื่อพนักงานอธิบายไม่ได้ว่าอยากกลับมาทำงานกับบริษัทเพราะอะไร เพราะปกติแล้วเราย่อมเลือกทำงานกับบริษัทด้วยเป้าหมายส่วนตัวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายกว้าง ๆ เช่นไม่อยากตกงาน หรือเป้าหมายเพื่ออนาคตที่มองเห็นช่องทางการเติบโตในองค์กร เป็นต้น ซึ่งการกลับมาทำงานโดยไม่มีเป้าหมายอะไรเลยเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดและมีความเสี่ยงต่อปัญหาที่จะตามมาในอนาคต
3.เมื่อพนักงานงานเคยมีปัญหาเรื่องความรับผิดชอบหรือการทำงานในภาพรวม เพราะแม้บริษัทจะขาดคนแค่ไหน แต่การนำอดีตพนักงานกลับมาเพียงเพราะเหตุผลนี้ไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้อง HR ต้องคำนึงก่อนว่าการรับพนักงานแต่ละคนต้องอาศัยการฝึกอบรมเพิ่มเติมมากแค่ไหน เป็นงบประมาณเท่าใด ดังนั้นหากพนักงานเก่ามีแนวโน้มไปในด้านลบ การหาพนักงานใหม่ที่พร้อมทุ่มเทเพื่อบริษัทก็เป็นทางเลือกที่ถูกต้องกว่า
แม้ Boomerang Employees จะมีข้อควรระวังอยู่เต็มไปหมด แต่ก็สร้างประโยชน์ได้มาก HR Recruiter ต้องทำการบ้านอย่างหนักในปัจจุบันเพื่อใช้ประโยชน์จาก Boomerang Employees ให้ได้มากที่สุด แล้วเราจะมีวิธีการจักากรเรือง Boomerang Employees อย่างไร ติดตามอ่านได้ใน EP หน้า…
ที่มา https://th.hrnote.asia/recruit/220724-boomerang-employees/
รูปภาพ https://www.pexels.com/