ลืมยื่นภาษี ยื่นไม่ทัน ต้องทำอย่างไร?
บุคคลธรรมดา ไม่ได้ยื่นภาษี – ยื่นภาษีไม่ทันเวลาที่กำหนด ต้องทำอย่างไร กรมสรรพากร มีบทลงโทษอะไรบ้าง การที่เราหลงลืม หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถยื่นภาษีได้ทันเวลา อย่าเพิ่งตระหนกตกใจไป เพราะทางกรมสรรพากรก็ได้เปิดโอกาสให้แก้ตัว พร้อมกับบทลงโทษโดยการเสียค่าปรับ ซึ่งมีรายละเอียดตามที่ได้สรุปมาให้ดังนี้
ยื่นภาษีไม่ทันทำอย่างไร
บุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ แต่ยื่นไม่ทันเวลาที่กำหนด ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี จะต้องไปยื่นด้วยตนเองอีกครั้งที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา โดยจะต้องเตรียมเอกสารประกอบไปด้วย ดังนี้
- แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อยภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ
- เอกสารยืนยันสิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบ ล.ย. 03)
ข้อแนะนำ : ก่อนไปยื่น เราควรตรวจสอบเอกสารให้เรียบร้อยครบถ้วนกันก่อน เพราะจะได้ไม่เสียเวลาในการยื่นภาษีและหลีกเลี่ยงความล้าช้าในการดำเนินการ
เตรียมค่าปรับอย่างไร?
นอกจากเตรียมเอกสารเพื่อยื่นภาษีแล้ว เราจำเป็นจะต้องเสียค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนดจะต้องเตรียมเงินเพื่อชำระเงินภาษี และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามกฎหมายสรรพากร ดังนี้
- บุคคลธรรมดาที่ไม่ยอมยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 หรือยื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ขอลดค่าปรับได้
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 ผ่านอินเทอร์เน็ตช้ากว่ากำหนด หากเป็นกรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ถือว่ามิได้ยื่นแบบ ต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เกินกำหนดเวลา
- กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
- กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระค่าปรับตามข้อ 1 เพียงอย่างเดียว
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ
- กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
- กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอผ่อนชำระเงินภาษี หากมิได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลา จะหมดสิทธิ์การผ่อนชำระและต้องชำระภาษีอากรที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ