รับมือสินค้าราคาแพง ดอกเบี้ยสูงกันให้ดี พี่น้องไทย !!
ด้วยเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 15-20 ปี ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะเบาลง สินค้าแพง- ดอกเบี้ยขึ้น จนจุกอก อัตราเงินเฟ้อ ณ ปัจจุบันทะลุขึ้นมา 7.1% ยังไม่ได้อยู่ในจุดสูงสุดของปีนี้ แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน คาดการณ์ว่าจุดสูงสุดจะอยู่ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้อย่างแน่นอน
ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการมุ่งเน้นและให้ความสนใจไปที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)7 คน ที่มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมที่ 0.50% ด้วยคะแนนเสียง 4:3
โดยกรรมการ กนง. 3 ใน 7 คน มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ถูกมองว่า เป็นการส่งสัญญาณต่อตลาดโดยตรง ว่าอีกไม่นานจะหมดยุคดอกเบี้ยต่ำแล้ว และจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอีกไม่ช้านี้ จากที่ตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำในระดับ 0.50% มาร่วม 2 ปีเศษ
วาระการประชุมอีก 3 ครั้งที่เหลืออยู่ในปีนี้จะถูกจัดขึ้นใน วันที่ 10 สิงหาคม 2565, วันที่ 28 กันยายน 2565 และนัดสุดท้ายวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างแน่นอน
ซึ่งถ้า กนง. ขึ้นดอกเบี้ยงนโยบาย จะส่งผลให้ ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยเช่นเดียวกันในทันที นั้นหมายถึง บรรดาพ่อค้า ประชาชน จะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นทันที จากที่ปัจจุบันกู้เงินจ่ายดอกเบี้ยกันอยู่ที่ระดับ 6.5-7.5% และกลุ่มคนที่กู้เงินแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว MLR จะมีภาระการจ่ายเพิ่มขึ้นทันทีเช่นกัน
ส่วนการที่จะขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากนั้นน่าจะมีแนวโน้มที่ยาก เพราะในทางปฏิบัติและความจริง สถาบันการเงินเลือกที่จะขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ มากกว่าการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากอยู่แล้ว
ลองคิดแบบง่ายๆ เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดมีอยู่ราว 16,834,386 ล้านบาท ถ้าขึ้นดอกเบี้ยมาแค่ 0.25% ประชาชนจะมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 42,000 ล้านบาท
ปริมาณเงินกู้ในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและแบงก์ต่างประเทศ มีอยู่ราว 18,205,670 ล้านบาท ถ้าขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ผู้ประกอบการและประชาชนจะมีภาระการจ่ายเพิ่มขึ้นราว 45,500 ล้านบาท
ทุกคนจึงให้ความสนใจว่า ตกลงในปีนี้ กนง.จะมีการขึ้นดอกเบี้ยไปยืนอยู่ในระดับไหน เพราะถ้าขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้แค่ 0.50% เท่ากับว่า ฝ่ายผู้กู้จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาราว 99,000 ล้านบาท
แต่ถ้าขึ้นดอกเบี้ยขึ้นมาในปีนี้ 1% ต้นทุนการจ่ายของฝั่งผู้กู้จะเพิ่มมาทันที 182,000 ล้านบาท นี่คิดแบบกลมๆ ง่ายๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ
การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท)จึงมีผลกระทบไปทั่วทุกอณู ไม่จำกัดวงแคบอยู่แค่ธนาคารพาณิชย์
ประเด็นใหญ่ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งที่ กนง.ส่งสัญญาณออกมาให้ภาคเศรษฐกิจ ประชาชนได้ขบคิดและหาทางรับมือกันคือ การที่ กนง. 7 คน มีมติร่วมกันในการปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้นมาอย่างมาก โดยคาดว่าเงินเฟ้อที่เป็นตัวสะท้อนราคาสินค้าในปี 2566 จะขยับขึ้นไปยืนอยู่กรอบบนของเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 3%
คณะกรรมการ กนง.7 คน ยังมีมติเห็นพ้องกันในการ
- ปรับประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ขึ้นมาจาก 4.9% เป็น 6.2%
- เงินเฟ้อทั่วไปสำหรับปี 2566 ปรับขึ้นจาก 1.7% เป็น 2.5%
- อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ
อัตราเงินเฟ้อ ณ ปัจจุบันทะลุขึ้นมา 7.1% ยังไม่ได้อยู่ในจุดสูงสุดของปีนี้ แต่คาดว่าจุดสูงสุดจะเป็นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แต่ตัวเลขเงินเฟ้อจะไม่ถึงเลข 2 หลัก หลังจากนั้นจะทยอยปรับลดลงตามการผลิตน้ำมัน ที่คาดว่าจะมีมากขึ้นตามตลาดโลก โดยเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2566 เป็นต้นไป
ภาพที่สะท้อนกลับออกมาจากมุมมองของ กนง.ในเรื่องเงินเฟ้อที่กระทบต่อประชาชนที่เด่นชัดที่สุดคือ “ในปีนี้ราคาข้าวของเครื่องใช้ ในชีวิตประจำวัน ค่าเดินทาง อาหาร การกินของประชาชนคนไทยจะแพงที่สุดในรอบ 16-20 ปีเลยทีเดียว”
ผู้คนทั่วไป ผู้ประกอบการหลายรายอาจไม่เคยสังเกต แต่หากนำตัวเลขประมาณการเงินเฟ้อในปีนี้ที่ กนง.ประเมินว่า จะทะลุ 6.2% มาพิจารณาจะพบว่า นี่คืออัตราสูงสุดในรอบ 15-20 ปี ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีอัตราเงินเฟ้อสูงลิ่วระดับนี้มาก่อน….
เงินเฟ้อของประเทศไทยในระยะ15- 20 ปี เคยสูงสุดในระดับ 5.19% โน่น ปี 2550-2551 ดัชนีราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นตอนนั้น เกิดขึ้นไปทั่วโลกจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือ ปัญหาซับไพรม์ ในขณะนั้น ราคาน้ำมันวิ่งสูงใกล้เคียงปัจจุบันที่ 110-120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ผลที่ตามมาคือ ต้นทุนสินค้าต่างๆ สินค้าบริโภค อุปโภคต่างพากันปรับตัวเพิ่มขึ้น ค่าไฟ น้ำมัน น้ำมันเชื้อเพลิง อาหาร เนื้อสัตว์ต่างๆแพงระยับ
สถานการณ์เงินเฟ้อในระดับ 5.19% ในช่วงปี 2551 ได้ส่งผ่านไปเป็นภาระประชาชนอย่างหนักหน่วงมาก เพราะต้นทุนราคาหมวดอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 11.56% ต้นทุนราคาหมวดค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 10.2% ต้นทุนหมวดที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 3.28%
เงินเฟ้อสูงอีกระลอกหนึ่งของประเทศไทยเกิดขึ้นในปี 2011 หรือปี 2554 ตอนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยทำให้เกิดการช็อคในภาคการผลิต ทำให้สินค้าต่างๆ ขาดแคลน แต่คราวนั้นสูงเพียงแค่ 3.8% นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เงินเฟ้อของไทยไม่เคยเกิน 2% แม้แต่ครั้งเดียว
!!! ด้วยเหตุนี้ ราคาข้าวของเครื่องใช้ ในชีวิตประจำวัน ค่าเดินทาง อาหาร การกิน จะแพงขึ้นอย่างแน่นอน !!!
“ฉะนั้นหากคุณวางแผนรับมือกับภาวะเงินเฟ้อไว้แล้ว ก็ไม่มีอะไรน่าห่วง แต่ถ้าคุณยังไม่ได้วางแผนรับมือก็คงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง การกลับมาทบทวนการใช้จ่ายของคุณน่าจะเป็นสิ่งที่นำมาใช้และให้ผลดีต่อการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อได้”
ที่มา https://www.thansettakij.com/ (พรานบุญ 09 มิย.2565)
รูปภาพ https://www.pexels.com/