e-Withholding Tax
ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ e-Withholding Tax เป็น วิธีการใหม่ในการนำส่งเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผ่าน “สถาบันการเงิน” ผู้ให้บริการระบบ แทนที่แต่เดิม ผู้ประกอบการ จะต้องยื่นแบบเป็นกระดาษหรือผ่านอินเทอร์เน็ต (e-Filing) พร้อมนำส่งภาษีตามแบบต่อกรมสรรพากร ก็สามารถดำเนินการทั้งหมด ผ่านสถาบันการเงินแทนได้ โดยไม่ต้องเขียนแบบใบหักภาษี ณ ที่จ่าย และไม่ต้องออกใบหลักฐานให้ผู้รับเงิน ทั้งสะดวกและง่ายกว่าเดิม
ซึ่งหลักฐานต่างๆ สถาบันการเงินจะเป็นผู้ออกแทนให้ และผู้ประกอบการมีหน้าที่เพียงแค่จ่ายเงินพร้อมยื่นข้อมูลรายการผ่านระบบเท่านั้น นอกจากนี้หนังสือหลักฐานรวมถึงใบเสร็จก็จะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่บนระบบ e-Withholding Tax ทั้งหมด ปัญหาที่ “ผู้จ่ายเงิน” และ “ผู้รับเงิน” กังวลว่าหลักฐานจะหายก็หมดไป และคุณยังสามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเว็บไซต์ของ กรมสรรพากร ได้อีกด้วยเช่นกัน
ประเภทของ e-Withholding Tax
e-Withholding Tax แบ่งเป็น 2 ประเภท
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงินทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีการชำระค่าสินค้า หรือ บริการให้แก่ผู้ประกอบการ ในต่างประเทศ
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย อิเล็กทรอนิกส์ e-Withholding Tax
- ผู้ประกอบการ ผู้จ่ายเงิน หรือผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย
- สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการระบบ e-Withholding Tax
- คู่ค้า หรือ ผู้ถูกว่าจ้าง คือ ผู้รับเงิน หรือ เป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
- และกรมสรรพากร
การใช้งานเว็บไซต์ เพื่อตรวจสอบหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายคุณสามารถสมัครใช้งานได้ด้วยรหัสทะเบียนผู้เสียภาษี ได้ทันที ซึ่งการที่เอกสารทั้งหมดอยู่บนระบบของกรมสรรพากรอยู่แล้ว ผู้ประกอบการ และผู้เสียภาษีก็เหมือนได้รับการรับรองจากกรมทันที การส่งแบบภาษีปลายปี ก็จะสะดวกและรวดเร็ว ถูกต้อง มีประสิทธิภาพกว่าเดิม
ขั้นตอนของระบบ e-Withholding Tax
เริ่มแรก ผู้ประกอบการต้องสมัครใช้บริการ e-Withholding Tax กับธนาคารผู้ให้บริการระบบก่อน ถามว่าสมัครอย่างไร ขณะนี้มีธนาคารเปิดให้บริการพร้อมอำนวยความสะดวกในการสมัครอยู่ 12 แห่ง ประกอบด้วย
- ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคาร มิซูโฮ จำกัด สาขา กรุงเทพฯ
- ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชัน
- ธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
- ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคาร ธนชาต จํากัด (มหาชน)
โดยกระบวนการของ ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย อิเล็กทรอนิกส์ e-Withholding Tax เมื่อมีการทำธุรกรรม หรือทำสัญญาว่าจ้างแล้วมีการจ่ายเงินปกติ ก็จะมีการทำผ่านธนาคาร ซึ่งทันทีที่ผู้ประกอบการได้รับใบแจ้งหนี้ กระบวนการต่อไป ก็จะเป็นดังต่อไปนี้
- ผู้ประกอบการต้องโอนเงินค่าจ้างพร้อมแจ้งข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้ธนาคาร ตามกฎหมาย
- เมื่อธนาคารได้รับเงินจะแจ้งยืนยันกลับไป พร้อมคำนวนค่าภาษีให้เสร็จสรรพ
- ธนาคารออกหลักฐานการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ทวิ 50) ให้ผู้ประกอบการ และผู้รับเงินเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
- จากนั้นธนาคารจะโอนเงินหลังหักภาษีให้ผู้รับเงิน และนำส่งภาษีที่หักไว้ พร้อมข้อมูลเอกสารให้กรมสรรพากร ภายใน 4 วันทำการ
- กรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ประกอบการ และการเสียภาษีก็เป็นอันสมบูรณ์
- กรณี การนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายขาดไปบางรายการ ผู้ประกอบการสามารถส่งเพิ่มเติมทันทีได้ผ่านระบบง่ายๆ
ทำไมผู้ประกอบการถึงควรใช้ ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ e-Withholding Tax
การเปลี่ยนไปใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ e-Withholding Tax ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์หลายด้าน ในการจัดการภาษี ไม่ว่าจะเป็น
- ลดขั้นตอนทำเอกสาร (ภ.ง.ด.3 / ภ.ง.ด.53) ลดกระบวนการยื่นแบบ กระบวนการเตรียมเอกสาร
- ลดต้นทุนค่าเก็บเอกสารค่าส่ง ค่าทำเอกสาร
- ลดการตรวจสอบของ กรมสรรพากร เพราะผู้ประกอบการที่ใช้ระบบ จะได้รับการรับรองจากกรมทันที และ สามารถตรวจสอบเอกสารได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านระบบออนไลน์
โดยในการทำธุรกรรม หรือการจ่ายเงิน ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2565 ผู้รับเงินยังได้รับสิทธิ์ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 2% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่าน e-Withholding Tax
นอกจากนี้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายจากการลงทุน และการใช้บริการระบบ e-Withholding Taxหรือระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) มาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 ธันวาคม 2565 เช่นกัน
ช่วยให้ภาคเอกชนมีต้นทุน และภาระในการจัดทำ การจัดเก็บเอกสาร รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีลดลง นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการก้าวเข้าสู่นวัตรกรรมดิจิทัล และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนการลงทุนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง