Blockchain technology เทคโนโลยีเพื่อความเปลี่ยนแปลง

เทคโนโลยีต่าง ๆ ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางอย่างเราก็ใช้งานมันอย่างไม่รู้ตัว อย่าง Blockchain technology คืออีกเทคโนโลยีที่เริ่มก้าวมาสู่ชีวิตประจำวัน มีผลต่ออุตสาหกรรมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมยานยนต์ สื่อ การบริจาคระดมเงิน การแพทย์ หรือแม้แต่การประกันภัย หลายคนคงสงสัยว่ามันคืออะไร แล้วมาเกี่ยวข้องอะไรกับอุตสาหกรรมเหล่านี้ มาทำความรู้จักและเรียนรู้กับเจ้า Blockchain technology กัน
Blockchain คืออะไร?

Blockchain คือ ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุมที่เก็บสถิติการทำธุรกรรมทางการเงินและสินทรัพย์ชนิดอื่นๆในอนาคต โดยไม่มีตัวกลางคือสถาบันการเงินหรือสำนักชำระบัญชี นั่นก็คือระบบ Blockchain จะไม่มีตัวกลางอย่างที่เคยเป็นมานั่นเอง จึงเท่ากับว่า Blockchain เป็นระบบโครงข่ายในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยการตัดตัวกลางอย่างสถาบันการเงินที่มีอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ออกไป ทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมถูกลงและอาจจะส่งผลให้สถาบันการเงินที่เป็นตัวกลาง รวมไปถึงสำนักชำระบัญชีต่างๆอาจไม่จำเป็นต้องมีอีกต่อไปในอนาคต หากเทคโนโลยีนี้เข้ามาแทนที่ได้อย่างสมบูรณ์

ขณะที่ Blockchain ไม่เพียงมีบทบาทอยู่แค่การทำธุรกรรมทางการเงินหรือแค่ระบบทางการเงินเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับระบบอื่นๆได้อีกด้วย เช่น การเก็บสถิติการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใสมากขึ้น การให้ยืม Cloud Storage ระหว่างกัน บริการ Co-location ระบบ Peer to Peer Lending ระบบบันทึกประวัติทางการแพทย์ ระบบจัดเก็บกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินต่างๆ เช่น ทะเบียนรถ, โฉนดที่ดิน, หุ้น, ระบบแต้มส่งเสริมการขายอย่าง The One Card หรือ Stamp 7-11 และอื่นๆอีกมากมาย ถ้าเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี Blockchain ก็จะสามารถเพิ่มเสถียรภาพให้ระบบและลดต้นทุนในการขยายระบบได้อย่างมหาศาล

นั้นแสดงให้เห็นว่าหลายหน่วยงานก็มีการพัฒนาเพื่อจะนำ blockchain มาใช้งาน ธนาคาร และสถาบันการเงิน ที่เริ่มทำธรุกรรมต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ สร้างระบบการยืนยันตัวตน แบบไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ามาทำธุรกรรมที่สาขาหรือหน้าเคาเตอร์ โดยปัจจุบันเหล่าธนาคารเองก็ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในการทำ Blockchain มากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดเหล่าสถาบันการเงินอย่างธนาคาร Citibank ตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ รวมไปถึงบริษัท VISA ก็ได้เข้าลงทุนในบริษัท Blockchain ชั้นนำอย่าง Chain.com เพื่อแนวทางรักษาตลาดเทคโนโลยีนี้เช่นกัน

Blockchain ประกอบด้วย 4 ส่วนหลักสำคัญ คือ
  1. กล่องเก็บข้อมูล หรือ Block ทำหน้าที่กระจายไปให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเก็บเอาไว้ โดยข้อมูลเหล่านั้นไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ และทุกๆ ครั้งที่มีการทำธุรกรรมใหม่เกิดขึ้นจะมีการสร้างกล่องใหม่ขึ้นมา
  2. จากนั้นจึงนำกล่องมาผูกเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า Chain โดยการผูกด้วยวิธี Hash Function ซึ่งเปรียบเสมือนลายนิ้วมือของไฟล์ที่ใช้ในการ Verify หรือยืนยันความถูกต้องจากข้อมูลที่แต่ละคนถือเอาไว้ ถือเป็นตัวแทนของข้อมูลต้นฉบับ ซึ่งค่าที่ได้จากการ Hash นี้มีโอกาสที่ซ้ำกันยากมาก จึงเป็นคุณสมบัติที่เชื่อมั่นได้ในการนำมาใช้ยืนยัน (Verify) ข้อมูลที่แต่ละบุคคลถือไว้
  3. การตกลงร่วมกัน หรือ Consensus เพื่อกำหนดข้อตกลงที่ต้องเห็นพ้องร่วมกันด้วยอัลกอริทึมต่างๆ แล้วแต่การตกลง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องกฎและเครื่องมือที่ใช้ในเครือข่ายของผู้ใช้
  4. ขั้นตอนการตรวจสอบ หรือ Validation เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นร่วมกัน ซึ่งกระบวนการตรวจสอบต้องเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อมีการทำธุรกรรมใดๆเกิดขึ้นจะสร้างกล่องใหม่ขึ้น จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเชื่อมโยงกล่องนั้นเข้ากับห่วงโซ่เดิมที่ผูกรวมกัน โดยมีการยืนยันตัวเองของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรมนั้น ซึ่งข้อมูลธุรกรรมที่สร้างใหม่จะต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้ใช้คนอื่นๆในห่วงโซ่ผ่านข้อตกลงที่มีร่วมกันก่อนหน้านี้ และระบบจะทำการตรวจสอบ นั่นจึงทำให้เทคโนโลยี Blockchain ได้รับความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและความถูกต้องสูง
จากรูปแบบการทำงานของ Blockchain จึงทำให้เห็นข้อดีดังนี้
  1. ยากต่อการทำการทุจริตข้อมูล ข้อมูลต่างๆ จะถูกบันทึกไว้ใน Blockchain ปรียบเสมือนการเก็บข้อมูลแบบหนึ่งซึ่งสามารถแชร์ไปได้เป็นห่วงโซ่ หรือ Chain โดยที่ระบุตัวเจ้าของข้อมูลอย่างชัดเจน จึงทำให้ไม่สามารถถูกปลอมแปลงหรือถูกแก้ไขได้ และสามารถติดตามลำดับการบันทึกข้อมูลย้อนหลังทั้งหมดได้อย่างโปร่งใส
  2. ไม่ส่งผลกระทบเรื่องระบบล่ม เนื่องจากข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ในกล่องที่อยู่บน Blockchain จะไม่ถูกควบคุมโดยใครคนใดคนหนึ่ง จะถูกกระจายไปจัดเก็บบนฮาร์ดแวร์หลายๆเครื่อง ซึ่งเราจะเรียกฮาร์ดแวร์แต่ละชุดนี้ว่า Node เมื่อจุดใดจุดหนึ่งเล็กๆในระบบเสีย จะไม่ส่งผลทำให้ระบบทั้งระบบล่ม
  3. ช่วยเรื่องธุรกรรม และค่าใช้จ่าย เมื่อธุรกรรมหรือสัญญาถูกจัดเก็บในรูปของข้อมูล การนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลเพื่อบังคับให้ทำตามสัญญาหรือธุรกรรมต่างๆเหล่านั้นก็สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ และยังนำไปประยุกต์ใช้รูปแบบอื่น เช่น การแจ้งเตือนเมื่อสัญญากำลังจะหมดอายุได้ เป็นต้น และเมื่อการทำธุรกรรมหรือสัญญาเหล่านี้ไม่ต้องมีตัวกลาง ก็จะสามารถประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายลงไปได้อีกมาก
  4. รองรับการเข้ารหัสสำหรับข้อมูลแต่ละชุดได้ ด้วยคุณสมบัตินี้จึงทำให้ ถึงแม้ข้อมูลของเราจะถูกกระจายไปยัง Node อื่นๆ และอาจถูกบางคนมองเห็น แต่คนอื่นๆก็จะไม่สามารถถอดรหัสข้อความของเราได้ นอกจากตัวเราเองและผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเหล่านี้ที่เราอนุญาตให้เข้าถึงได้เท่านั้น

สรุป ในยุคปัจจุบันที่ข่าวสารและข้อมูลที่มีปริมาณจำนวนมาก Blockchain technology คืออีกก้าวของเทคโนโลยีออนไลน์ ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างความปลอดภัยและความโปร่งใส  นอกจากนี้การพัฒนา Blockchain technology เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างบนโลกใบนี้ที่ข้อมูลมีปริมาณมาก ผู้ที่สามารถครอบครองข้อมูลจำนวนมาก เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยทำให้การตัดสินใจต่าง ๆ มีความผิดพลาดน้อยลง ถือเป็นเรื่องสำคัญของธุรกิจในการนำ Blockchain technology มาใช้อย่างแท้จริง

ที่มาข้อมูลและรูปภาพจาก

https://www.depa.or.th/

https://www.pexels.com/