เตือนใช้ “กัญชา”ผิดวิธี มีผลต่อจิตประสาท !!!
ตอนนี้กระแสกัญชาเกิดขึ้นมากมาย หลังมีการปลดล็อคกัญชา จะเห็นว่ามีกระแสการใช้กัญชาออกมามากมาย โดยเฉพาะสิ่งที่เราพบเจอคือ ผู้ผลิต -ผู้ขายอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม หรือกาแฟผสมกัญชา และผลิตภัณฑ์อาหารอีกหลายประเภทที่เริ่มทยอยกันออกมา วันนี้เราจึงมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชา และข้อแนะนำในการเลือกใช้เมื่อเราจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้
หลังจากที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อกังวลถึงผลกระทบจากการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ทำให้เด็กและวัยรุ่นเข้าถึงกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา
เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย อาจส่งผลต่อสุขภาพของเด็กและวัยรุ่นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการกำกับดูแลนั้น ทำให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องออกมาตรการคุมเข้ม
ซึ่งมาตรการที่ออกมาใช้ควบคุม ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ที่ อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ปฏิบัติตามมาตรการเดียวกันทั่วประเทศคือ
- ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่บรรจุในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่ายจัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ ต้องกำกับดูแลทั้งก่อนและหลังการอนุญาตอย่างเข้มงวด
- ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต ต้องมีความปลอดภัย โดยมีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานด้านต่าง ๆ เช่น จุลินทรีย์ก่อโรค สารปนเปื้อน สารพิษตกค้าง
- ต้องมีปริมาณ THC ไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดจากการประเมินความปลอดภัย ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัยในการบริโภค โดยมีผลวิเคราะห์ยืนยัน
- ต้องแสดง คำว่า “กัญชา” หรือ “ส่วนของกัญชา” ที่ใช้บนฉลากอย่างชัดเจนในส่วนของชื่ออาหารและส่วนประกอ
- แสดง คำเตือน และข้อแนะนำในการบริโภค เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
- ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ได้รับเลขสารบบอาหาร จะมีความปลอดภัยเมื่อบริโภคตามคำแนะนำ
- สำหรับการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่แสดงถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ต่อสุขภาพ ต้องได้รับอนุญาตก่อนทุกราย เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด หรือส่งเสริมการใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ อย. ยังมีการสุ่มเฝ้าระวังคุณภาพและการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาสรรพคุณหรือคุณประโยชน์ของอาหาร ไม่ให้เป็นการโฆษณาที่เกินจริงหรือหลอกลวงผู้บริโภค และดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
ข้อแนะนำที่ อย. แนะนำสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ว่าได้รับอนุญาตหรือไม่ให้สังเกตุได้จาก
- ฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องแสดงเลขสารบบอาหาร
- ชื่ออาหารแสดงชื่อส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงหรือสารสกัด แคนนาบิไดออล (CBD)
- ข้อความ “คําเตือน” ด้วยตัวอักษรขนาดไม่เล็กกว่า 1.5 มม. ในกรอบสี่เหลี่ยม สีของตัวอักษรตัดกับสีของพื้นกรอบ และสีกรอบตัดกับสีของพื้นฉลาก
- ระบุข้อความ “เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน” และ “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”
- รวมทั้ง อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา อวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ต่อสุขภาพในทางบำบัดรักษา
อย่างไรก็ตาม มีคำเตือนจากกระทรวงสาธารณสุข ถึงการใช้กัญชา หรือกัญชง ในทางที่ไม่เหมาะสม
“เพราะการใช้กัญชาหรือกัญชง นอกจากประโยชน์ที่ได้แล้ว ผลข้างเคียง ผลเสียก็มี ถ้าใช้อย่างไม่เข้าใจ หากใช้มากเกินไป ใช้ผิดวิธี ใช้เกินจากที่กำหนดไว้ อาจจะทำให้มีปัญหาต่อระบบจิตประสาทได้ ซึ่งไม่ได้อยากให้เกิดเช่นนั้น อยากให้มีการใช้กัญชาในทางที่เกิดประโยชน์และอย่างเข้าใจ”
นอกจากนี้ทาง สธ. ยังกำชับให้ใช้ภายในกรอบกฎหมาย เท่านั้น การสูบ หรือเสพ ไม่ใช่การใช้ทางการแพทย์ ระวังจะมีโทษทางกฎหมายได้
แม้ในปัจจุบัน กัญชาและกัญชงจะได้รับการปลดล็อคถอดออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใช้ได้โดยทั่วไปอย่างเสรี หากมีปริมาณสาร ∆9-THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก ตามประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ก็ยังถือว่าเป็นยาเสพติด ดังนั้น ผู้บริโภคควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากกัญชาที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว