สับสนกันน่าดู กับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA

ก่อนหน้านั้นเราได้อธิบายเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือPDPA กันมาแล้ว เราจึงไม่ขออธิบายซ้ำจนยืดยาวอีก แต่ในตอนนี้เกิดกระแส และความเข้าใจผิดต่างๆเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ เราจะมาดูเรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดกัน

>> อ่านเรื่อง PDPA พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่นี่

ก่อนอื่นขออธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับกฎหมาย PDPA สักนิด

กฎหมาย PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

PDPA ย่อมาจาก คำว่า Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019) คือ กฎหมายว่า ด้วยการให้สิทธิเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล การสร้างมาตรฐานรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย นำไปใช้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต ซึ่งโดยเจตนาก็นำมาใช้กับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนตัวของประชาชนที่มาติดต่อกับองค์กรของราชการ หรือข้อมูลของลูกค้าบริษัทเอกชนนั้นเอง โดยในการขอข้อมูลต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลทุกครั้ง รวมถึงการใช้ข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลด้วยเช่นกัน หากผู้ใดหรือองค์กรใดไม่ปฏิบัติตามนั้น มีโทษทั้งทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครอง

อย่างไรก็ดีขณะนี้เริ่มเกิดความเข้าใจผิดในตัวบทกฎหมาย PDPA ถึงการคุ้มครอง ว่าคุ้มครองอย่างไร และแบบไหนถึงเรียกว่าเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล กระแสที่เราพบเจอ ได้ฟัง ได้เห็นบนสื่อหรือข่าวในช่องทางต่างๆเรื่องที่สับสนมากในช่วงนี้ได้แก่

การถ่ายรูป – ถ่ายคลิป ในที่สาธารณะแล้วติดบุคคลอื่น
  • การถ่ายรูปติดผู้อื่นโดยไม่เจตนาหากการถ่ายนำไปเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว และไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่ายเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่หากขณะที่ถ่ายแม้ว่าจะเป็นเพื่อการส่วนตัว หากผู้ที่ถูกถ่ายภาพร้องขอให้ลบรูป หรือคลิปที่ติดเจ้าตัวออก ท่านต้องทำการลบ
  • การโพสต์ภาพ หรือคลิปวีดีโอที่ติดภาพของบุคคลอื่นในสื่อสังคมออนไลน์ หากทำเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่แสวงหากำไรทางการค้า และไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย สามารถทำได้
เรื่องกล้องวงจรปิด
  • การติดกล้องวงจรปิดภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากติดเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน
การทำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ ไม่จำเป็นต้องของความยินยอมก่อน ในกรณีดังนี้
  • เป็นการทำตามสัญญา
  • เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ
  • เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิต หรือร่างกายของบุคคล
  • เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ
  • เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
  • เป็นการใช้เพื่อปกป้องประโยชน์ หรือสิทธิของตน

“หลักการข้างต้นที่นำมาชี้แจง อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆไป ส่วนข้อปฏิบัติทางกฎหมายอาจจะมีการประชาสัมพันธ์รายละเอียดออกมาเพิ่มเติม จากทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

โดย ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้ขอความร่วมมือจากประชาชน ให้งดส่งต่อข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว เพราะอาจทำให้ถูกผู้ไม่หวังดีอาศัยความเข้าใจผิดดังกล่าวไปแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากพี่น้องประชาชนมีความสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 สามารถติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลได้ทางเพจเฟซบุ๊ก PDPC Thailand ผ่านทาง URL : https://www.facebook.com/pdpc.th

“สิ่งเหล่านี้คือเบื้องต้นที่มีความสับสนเกิดขึ้นเกี่ยวกับ PDPA ด้วยความที่เป็นกฎหมายใหม่ ที่เพิ่งจะมีการบังคับใช้สำหรับบ้านเรา ฉะนั้นค่อยๆเรียนรู้ ค่อยๆศึกษา และจงอย่าตื่นตระหนกกับข่าวลือต่างๆ จะเป็นการดีที่สุด”

ที่มาข้อมูล  PDPC Thailand

https://www.bangkokbiznews.com/

https://www.dailynews.co.th/

รูปภาพ https://www.pexels.com/