Disclosure Form คืออะไร? ยื่นเมื่อไหร่? ใครต้องยื่นบ้าง?
กรมสรรพากรใจดีขยายเวลายื่น Disclosure Form รอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี (ฉบับที่ 2) ได้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีของรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งต้องยื่นภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
Disclosure Form คืออะไร?
“Disclosure Form“อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการโดยทั่วไป เนื่องจากเป็นแบบรายงานที่กฎหมายบังคับใช้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2562 เป็นต้นไป และไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการนิติบุคคลที่มีรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวต้องยื่น Disclosure Form ทุกรายการ ดังนั้น เรามาดูกันว่า Disclosure Form คือแบบรายงานอะไรใครเป็นผู้มีหน้าที่ที่ต้องยื่นแบบรายงานนี้บ้าง
แบบรายงานประจำปีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร (Disclosure Form) คือ แบบรายงานที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน ต้องจัดทำตามแบบที่อธิบดีกำหนดและยื่นพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 69 คือ ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี เป็นแบบรายงานที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับ
- รายชื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันที่ประกอบกิจการในประเทศไทยและไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย
- มูลค่าธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
- ข้อมูลอื่นๆ เช่น
- ผู้มีหน้าที่จัดทำงบการเงินรวม
- มีการปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจ (Business Restructuring ) ระหว่างบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งผลกระทบอย่างไรต่อรายได้ ต้นทุน หรือกำไร
- ในรอบระยะเวลาบัญชีมีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนไปยังบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันหรือไม่
ใครมีหน้าที่ยื่น Disclosure Form ?
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องยื่น Disclosure Form คือ
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพัมธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ วรรค 2 แห่งประมวลรัษฎากร หมายถึง นิติบุคคล ตั้งแต่ 2 นิติบุคคลขึ้นไป ที่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะต่อไปนี้
- นิติบุคคลหนึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด
- ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมดถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด หรือ
- นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านทุนการจัดการ หรือการควบคุมในลักษณะ ที่นิติบุคคลหนึ่งไม่อาจดำเนินการโดยอิสระจากอีกนิติบุคคลหนึ่งตามที่กำหนดโดยกระทรวง
- มีรายได้ทั้งหมด มากกว่า 200 ล้านบาท
ช่องทางการยื่น Disclosure Form
- การยื่น Disclosure Form ให้ยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ (Website) ของกรรมสรรพากร www.rd.go.th โดยตรง หรือผ่านทางระบบบริหาร Single Sign on ทางเว็บไซต์ (Website) ของสรรพากรได้ขยายเวลาการยื่นเพิ่มอีก 8 วัน เป็นภายใน 158 วัน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
- หากมีเหตุจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถยื่น e-Filing ได้ผู้ประกอบการสามารถพิมพ์ Disclosure Form จากระบบเพื่อนำแบบรายงานที่เป็นกระดาษยื่น พร้อมกับทำหนังสือแจ้งต่ออธิบดีกรรมสรรพากรถึงเหตุอันสมควรที่สามารถยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ภายใน 150 วัน นับวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
หากไม่ยื่น Disclosure Form จะมีโทษอย่างไร?
มาตรา 35 ตรี ตามประมวลรัษฎากร กำหนดโทษสำหรับนิติบุคคลที่ไม่ยื่นรายงานหรือเอกสารหรือหลักฐาน ตานแบบที่อธิบดีกำหนด หรือแสดงข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่ยื่นภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท
- ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา ปรับ 50,000 บาท
- เกิน 7 วันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลา ปรับ 100,000 บาท
- เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบ ปรับ 200,000 บาท
นอกจากนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคที่มีความสัมพันธ์กันดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วย การกำหนดราคา (Transfer Pricing) ซึ่งนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน หากมีข้อกำหนดทางด้านการพาณิชย์หรือการเงินระหว่างกันแตกต่างไปจากที่ควรและเชื่อได้ว่ามีการถ่ายโอนกำไรเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจปรับปรุงรายได้และรายจ่าย โดยกำหนดจำนวนรายได้ที่พึ่งได้รับและรายจ่ายที่พึงได้จ่าย (Arm’s Length Price) เพื่อใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี