ความสูญเปล่า 8 ประการ
ความสูญเปล่าที่พูดถึงหมายถึงอะไร?
ความสูญเปล่า หรือ Waste คือ สิ่งที่ไม่จำเป็นในระบบการผลิต หรือ สิ่งที่ไม่ทำให้เกิดผลประโยชน์ หรือกำไร สิ่งที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิต หรือการทำงานลดลง และสิ่งที่ส่งผลทำให้ต้นทุนสูงขึ้น หรือทำให้ขาดทุน ด้วยเช่นกัน ความสูญเปล่า หรือ Waste มีหลายประเภท มีทั้งแบบที่สามารถมองเห็นด้วยสายตา และที่แอบแฝงมาในระบบ ที่ไม่อาจจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งเกิดมาจากใน ระบบการผลิต, การประกอบ, การขนส่ง, เครื่องจักร หรือแม้กระทั่ง สิ่งแวดล้อมในการทำงาน
แนวคิดในการกำจัด ความสูญเปล่า หรือ Waste หรือในภาษาญี่ปุ่น จะเรียกว่า “MUDA” นั้น มีต้นกำเนิดแนวคิดมาจาก Toyota Production System (TPS) โดย นาย ไทอิจิ โอโนะ (Taiichi Ohno) Chief Engineer ของ Toyota เป็นผู้พัฒนา โดยได้ทำการแยกประเภทของความสูญเปล่าออกเป็น 7 ประการ หรือ 7 Waste ได้แก่ Transportation, Inventory, Motion, Waiting, Overproduction, Over-Processing and Defects
แนวคิดแบบ Toyota Production System ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินการทางธุรกิจอีกหลายอย่างในบริษัทอื่น ๆ อย่างแพร่หลาย จนกระทั้งต่อมาได้มีการพัฒนาปรับปรุง แนวความคิดการจัดการแบบ The Toyota Way มาเป็น การจัดการแบบลีน (Lean Thinking) โดย เจฟฟรีย์ ไลเคอร์ (Jeffrey Liker) ได้ทำการสรุป ความสูญเปล่า หรือ Waste ออกมาทั้งหมด 8 ประการ โดยเพิ่ม Non-Utilized Talent เข้ามาเพิ่มจากเดิม นั้นเอง
ความสูญเปล่า 8 ประการ (8 Wastes)
ความขาดตกบกพร่อง (Defects)
ความขาดตกบกพร่อง หรือผิดพลาดที่นับเป็นความสูญเปล่าอย่างหนึ่งก็เพราะว่า เมื่อความขาดตกบกพร่องเกิดขึ้นจะกระทบกับ เวลา เงิน ทรัพยากร รวมไปถึงความพึงพอใจของลูกค้าด้วย เพราะต้องแก้งานใหม่ หรือหากมองให้ง่ายมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับ “คุณภาพ” ของสินค้าหรือบริการนั่นเอง ยกตัวอย่าง เช่น
การผลิตสินค้าที่ต่ำกว่ามาตรฐานหลุดรอดไปถึงมือลูกค้า แม้เพียงชิ้นเดียวก็นับเป็นความสูญเปล่าแล้ว เพราะส่งผลโดยตรงต่อความพอใจของลูกค้า เมื่อลูกค้านำสินค้ามาเคลม องค์กรยังต้องเสียทั้งแรงงาน เวลา และทรัพยากรที่ต้องซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้าให้ลูกค้าใหม่ ทั้ง ๆ ที่ถ้าสินค้าได้มาตรฐาน การเคลมสินค้าจะไม่เกิดขึ้น
การผลิตที่มากเกินไป (Overproduction)
การผลิตสินค้าหรือประกอบสินค้าที่มากกว่าความต้องการของกระบวนการถัดไป รวมไปถึงการผลิตสินค้าที่มากกว่าความต้องการของตลาด การที่ทำการผลิตมากเกินกว่าความจำเป็นนั้น จะส่งผลให้เกิดต้นทุนที่เกินความจำเป็นขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายของวัตถุดิบ ค่าแรง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นต้น
ดังนั้น การที่เราทำการผลิตในจำนวนที่พอดีกับความต้องการของลูกค้า ก็จะสามารถทำให้ลดความสูญเสียในส่วนนี้ลงได้ ส่วนใหญ่ มักจะนิยมใช้ระบบการผลิตแบบ JIT (Just In Time) ในการจัดการระบบการผลิตให้พอดีกับความต้องการ
การรอคอย (Waiting)
การรอคอยรวมถึงการรอคอยของคน หรือการรอคอยของเครื่องจักรที่ยังไม่ได้ปฏิบัติงาน (Idle Time) การรอคอยเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดคุณค่าต่อองค์กรจึงนับเป็นความสูญเปล่า ทำให้งานที่จำเป็นต้องทำจริงถูกเลื่อนไปอยู่ในช่วงการทำงานล่วงเวลา มีการพูดกันว่า “การรอคอย” ถือเป็นความสูญเปล่าที่ตรงข้ามกับ “การผลิตมากเกินไป” ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการออกแบบกระบวนทำงานที่ไม่ดี
ฉะนั้นแล้ว การวางแผนกระบวนการผลิต ต้องทำการปรับสมดุลให้ทุกๆ กระบวนการ ใช้เวลาในการผลิตที่มีความใกล้เคียงกันมากที่สุด เพื่อลดความสูญเสียลงไป
ใช้ทรัพยากรบุคคลไม่เต็มประสิทธิภาพ (Non-Utilized Talent)
คือ การที่องค์กรไม่ยอมพัฒนาบุคลากร และไม่ฟังความคิดเห็นของทีมงาน การที่องค์กรไม่สามารถดึงศักยภาพความสามารถของพนักงานออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ หรือการที่องค์กร เลือกใช้พนักงานไม่ถูกต้องกับความสามารถของพนักงาน หรือ พนักงานขาดความรู้ความสามารถในงานที่ทำ ก็สามารถส่งผลให้เกิดความสูญเสียจากกระบวนการผลิตได้ เช่น ส่งส่งผลทำให้เครื่องจักร หรืออุปกรณ์เสียหายได้ หรือทำให้เกิดอุบัติเหตุ จนเกิดความเสียหายรุนแรง ตัวอย่างการใช้ทรัพยากรบุคคลที่ทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพ เช่น
การมอบหมายให้ นาย ก. ทำงานด้านการชงเครื่องดื่มทั้ง ๆ ที่ยังอบรมไม่ครบหลักสูตร ในขณะที่ นาย ข. อบรมครบแล้วกลับได้งานทำความสะอาดภาชนะ เป็นต้น
การเคลื่อนย้าย (Transportation)
การเคลื่อนย้ายที่เป็นความสูญเปล่า คือการเคลื่อนย้ายของวัสดุหรือเครื่องจักร รวมถึงการเคลื่อนย้ายของแรงงานคนที่ไม่คุ้มค่า โดยมากเกิดจากการออกแบบผังโรงงานหรือออฟฟิศได้ไม่ดีพอ เมื่อการเคลื่อนย้ายที่เป็นความสูญเปล่าเกิดขึ้นอาจนำมาซึ่งความสูญเปล่าอื่น ๆ ด้วย เช่น การรอคอย ความสูญเปล่าแบบนี้สามารถทำให้น้อยลงได้ด้วยการออกแบบผังโรงงาน หรือออฟฟิศใหม่ หรือออกแบบกระบวนการใหม่ ตัวอย่างของการเคลื่อนย้ายที่เป็นความสูญเปล่า เช่น
พื้นที่เก็บสินค้าที่อยู่ลึกเกินไป ทำให้สินค้าขาเข้าใช้เวลานานกว่าจะไปถึงโกดัง และเมื่อนำสินค้าออกขายก็ต้องเสียเวลาในการขนของออกเนื่องจากระยะทางที่ไกลขึ้น เป็นต้น
กระบวนการส่วนเกิน (Excess Processing)
ความสูญเปล่านี้เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานโดยตรง การออกแบบที่ไม่ดีพออาจมีสาเหตุมาจากการบริหารจัดการ การแบ่งหน้าที่การทำงาน หรือการสื่อสารกันระหว่างบุคคลที่ไม่ดีพอ นอกจากเรื่องคนแล้ว มีเรื่องของการออกแบบอุปกรณ์ เครื่องมือหรือเครื่องจักรด้วยที่เป็นตัวกำหนดกระบวนการ ต่าง ๆ อีกทีหนึ่ง (เพราะคนต้องทำตามวิธีใช้งานของเครื่องจักร)
เพราะฉะนั้นแล้ว การลดขั้นตอนการทำงานลง หรือการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักร ที่สามารถนำมาลดขั้นตอนการทำงานลงมาใช้ ก็สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ และการวางแผนการทำงานที่ดี การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับปรุงพัฒนา สร้างวิธีการผลิตที่เหมาะสมกับองค์กรจึงช่วยแก้ไขและทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สินค้าคงคลัง (Inventory)
สินค้าคงคลังก็นับเป็นความสูญเปล่าอย่างหนึ่ง เพราะต้องมีค่าการเก็บรักษาและดูแล โดยเฉพาะพวกวัตถุดิบและสินค้าพร้อมขาย ปัจจัยที่นำมาซึ่งสินค้าคงคลังเกินกว่าที่ควรจะเป็นสามารถมองได้เป็นสองมุมมองดังนี้
- ขาดการคำนึงถึงปริมาณการจัดซื้อทำให้จัดซื้อวัตถุดิบที่มากเกินไป รวมไปถึงการประมาณการและการวางแผนที่ผิดพลาดของยอดสั่งซื้อสินค้า
- การเชื่อมโยงที่ไม่สมบูรณ์ของกระบวนการระหว่างการผลิตและแผนการจัดซื้อ
ฉะนั้นแล้ว ควรมีการวางแผนในการผลิตให้ดี โดยอาจจะมีการใช้หลักการต่างๆ ที่ช่วยในการบริหารจัดการ สินค้าคงคลังให้ดีขึ้น เช่น เทคนิค Kanban เป็นต้น
การเคลื่อนไหว (Motion)
การเคลื่อนไหวนี้ไม่รวมถึงวัตถุดิบ แต่เน้นเฉพาะพนักงานและเครื่องมือเป็นหลัก การทำงานของ คน หรือ เครื่องจักร มีการเคลื่อนไหว ที่มากเกินความจำเป็น การเคลื่อนไหวที่เกินความจำเป็นนั้น สามารถส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงได้ อาจจะทำให้ชิ้นงานมีคุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอได้ เช่นกัน นอกจากนี้ยังต้องสูญเสียเวลาเกินความจำเป็น
ดังนั้น การที่เรามีมาตรฐานการทำงาน หรือ Work Instruction ที่ดี ที่เหมาะสม ก็สามารถลดการเคลื่อนไหวที่เกินความจำเป็นลงได้ เช่น การออกแบบระยะห่างระหว่างโต๊ะของชิ้นงานที่พนักงานต้องนำชิ้นงานมาประกอบกัน ระยะที่ห่างกันจนต้องเดินไปอีกโต๊ะหนึ่งจะเป็นความสูญเปล่า แต่ถ้าออกแบบโต๊ะสองตัวให้ติดกันจะลดระยะเดินของพนักงานได้ และนอกจากนี้แล้ว การทำ 5ส ก็สามารถลดความสูญเสียของการเคลื่อนไหวเกินความจำเป็นได้ เช่นกัน