การจัดทำโครงสร้างเงินเดือน…

โครงสร้างเงินเดือน (Salary Structure) เป็นการนำเอาระดับงาน (Jobs Level) มาจัดทำเป็นโครงสร้างเงินเดือน และปรับเงินเดือนพนักงานในปัจจุบันตามค่างานของแต่ละคนในระดับงานนั้นๆ สำหรับการจัดทำโครงสร้างเงินเดือนนั้นต้องใช้เทคนิดสูง และต้องมีประสบการณ์พอสมควร การเขียนโครงสร้างตามทฤษฏีก็ดีอยู่ แต่เวลานำไปใช้จริงจะมีปัญหามาก เพราะพนักงานที่มีอยู่ก่อนกันประเมินค่างาน และหลังการประเมินค่างาน ก็เป็นกลุ่มเดียวกัน ค่างานที่เปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนแปลงแต่ตัวหนังสือ เงินเดือน+ความสามารถยังไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย ดังนั้นการที่จะนำโครงสร้างเงินเงินใหม่ ไปบังคับใช้จึงต้องอาศัยประสบการณ์ จึงจะสามารถนำไปใช้ได้อย่างดี

องค์กรแบบไหนควรจัดทำโครงสร้างเงินเดือน?

การจัดทำโครงสร้างเงินเดือนเหมาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และบริษัทที่ต้องการวางโครงสร้างเงินเดือนให้มีความเหมาะสมกับธุรกิจและตลาดแรงงานเพื่อให้มีมาตรฐานการจ่ายเงินเดือนที่เป็นไปตามค่างานเป็นธรรมกับกรอบความรับผิดชอบและความทุ่มเทของพนักงาน ไปพร้อมๆกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงาน นอกจากนี้ยังช่วยให้มีอัตราเงินเดือนภายในอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันกับตลาดภายนอกได้ ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจจากกลุ่มคนทำงานที่มีประสิทธิภาพและคุณสมบัติตามที่องค์กรต้องการเข้ามา รวมทั้งยังช่วยให้ผู้บริหารใช้ประกอบการให้ค่าตอบแทนพิเศษ โบนัส หรือออกค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะพนักงานแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม

เริ่มต้นอย่างไร? หากองค์กรคุณยังไม่มีการจัดทำโครงสร้างเงินเดือน

เพราะกรอบการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับค่าของงาน (Job Value)  ในระดับชั้น/ตำแหน่งต่าง ๆ ที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นองค์กรจะต้องมีการประเมินค่างาน (Job Evaluation – JE) เพื่อจัดระดับชั้น/ตำแหน่งอย่างถูกต้อง และนำระดับชั้น/ตำแหน่งมาจัดเป็นกลุ่มงาน (Job Group)เพื่อจัดทำโครงสร้างเงินเดือนโดยมีกำหนดอัตราต่ำสุด (Starting Rate หรือ Minimum)  และอัตราสูงสุด (Maximum หรือ Ceiling)  ของแต่ละกลุ่มงานอย่างชัดเจนซึ่งโครงสร้างเงินเดือนจะมาจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับผลการสำรวจตลาด ค่าตอบแทน โดยมีขั้นตอนในการจัดทำ ดังนี้

  1. การจัดตั้งคณะกรรมการประเมินค่างาน
  2. การกำหนดปัจจัยการประเมินค่างาน
  3. การออกแบบJob Specification
  4. การกำหนดถ่วงน้ำหนักในปัจจัยต่าง ๆ
  5. การแปลงเปอร์เซ็นต์เป็นคะแนน
  6. กำหนดระดับในแต่ละปัจจัยพร้อมเขียนนิยามระดับปัจจัย
  7. การแปลงผลจากการประเมินค่างานมาเป็นคะแนนและการจัดแบ่งJob Group
  8. การจัดระดับชั้น (Job Group)
  9. สำรวจเงินเดือนจริงของบริษัท
  10. สำรวจตลาดแข่งขัน
  11. การจัดทำโครงสร้างเงินเดือน

สิ่งที่องค์กรต้องเตรียมพร้อมเมื่อจะจัดทำโครงสร้างเงินเดือน

  1. เตรียมความพร้อมและความร่วมมือของฝ่ายงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำโครงสร้างเงินเดือนนั้นต้องมีการประสานงานเพื่อให้เกิดการร่วมมือจากทั้งฝ่ายบริหาร และฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่จะใช้ประกอบการวางแผนการจัดทำโครงสร้างเงินเดือน ที่ถูกต้อง ชัดเจนที่สุด เพื่อให้การจัดทำนั้นมีประสิทธิภาพและได้ผลสูงสุด
  2. เตรียมข้อมูลการดำเนินธุรกิจ ส่งที่ทีมจัดทำโครงสร้างเงินเดือนต้องใช้มากที่สุดคือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เช่น โครงสร้างการบริหาร ตำแหน่งงาน ฐานเงินเดือนขององค์กร รวมถึงนโยบายและข้อมูลด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อใช้ในการสัมภาษณ์

ปัญหาการจ่ายเงินเดือนที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรม จะส่งผลให้องค์กรขาดคนทำงานเป็นระยะเวลานาน หรือพนักงานเข้า-ออกถี่ เข้ามาแล้วอยู่ไม่นาน อาจจะ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี รอรับโบนัสแล้วออกไป เพื่อตัดปัญหาดังกล่าวองค์กรควรให้ความสำคัญกับการจัดทำโครงสร้างเงินเดือนเพื่อให้มีการจ่ายค่าตอบแทนหรือค่าจ้างเงินเดือนอย่างเป็นระบบ เหมาะสม เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย สามารถดึงคนเก่งๆ เข้ามาร่วมงาน และรักษาคนมีคุณภาพให้ทำงานต่อไปได้ ส่วนในมุมพนักงานเองก็มีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น แต่ทั้งนี้การจัดทำโครงสร้างเงินเดือนถือเป็นกระบวนการที่สำคัญ และต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ซึ่งสำหรับบางองค์กรที่ไม่มีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญในการจัดทำ อาจจะใช้วิธีมองหาเครื่องมือ หรือผู้ช่วยที่สามารถให้คำปรึกษา พร้อมวางแผนจัดการเงินเดือนอย่างมีประสิทธิภาพได้ เพื่อให้องค์กรมีโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทนที่ชัดเจน ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรได้อย่างดี และมีมาตรฐานมากที่สุด…>>>

ที่มา https://www.dir.co.th/en/news/ia-news/how-did-it-start-organization-salary-structure-2.html

โดย ดร.เพิ่มทรัพย์ เวชสุกรรม รองผู้จัดการฝ่ายพัฒนาระบบ บริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด

รูปภาพ https://www.pexels.com/